เช็กประกาศล่าสุด ห้ามชุมนุม-มั่วสุม-กิจกรรมแพร่โควิด จำคุก 2 ปี มีผลวันนี้
หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ออกประกาศล่าสุด ห้ามชุมนุม-มั่วสุม-กิจกรรมแพร่โควิด ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก จำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดโรคโควิด-19 ฉบับที่ 15 ลงนามโดย พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในหลายประเทศ ทั่วโลกรวมทั้งในทวีปเอเชียมีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการระบาดระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแม้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซีน เข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงปรากฏการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยงส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตจาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด - 19) เพิ่มจำนวนขึ้น รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 12/2565 ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ประกาศ ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดโรคโควิด-19 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับ ความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) (ฉบับที่ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
2. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาส ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร
3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564
4. การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565
5. ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุม ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับใหม่ ให้ประกาศฉบับนี้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกำหนดฉบับใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ลงนาม พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศ แจ้งสถานที่ 7 แห่งใช้ชุมนุมสาธารณะ เปิดให้ประชาชนแสดงออกภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
โดยมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้
1. สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ
1.1 ลานคนเมือง เขตพระนคร
1.2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
1.3 ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร
1.4 ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง
1.5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี
1.6 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ
1.7 สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน