'แมวจามใส่หน้าติดโควิด' เจอเคสแรกในไทย-ม.อ.ชี้แจงแล้ว ‘โอกาสน้อยมาก’
สื่อนอกตีข่าวไทยเจอเคสของโลกคนติดเชื้อโควิด-19จากแมวจามใส่หน้า ด้านม.อ.ชี้แจงมีโอกาสเป็นไปได้แต่อยู่ในภาวะต่ำมาก
แมว เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใครหลายคนโปรดปราน แต่ล่าสุดมีรายงานกรณีเคสติดโรคโควิด-19 จากแมวสู่คนเป็นประเทศแรกของโลก โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศไทย สื่อต่างประเทศอย่างนิวยอร์กไทม์มีการตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวด้วย โดยรายงานอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ผ่านวารสาร โรคติดต่อ Emerging Infectious Diseases ของ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อหรือ (ซีดีซี ) โดยมีการระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจาก “แมวสู่คน”
ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 หลังจาก พ่อลูกวัย 64 ปี และ 32 ปี มีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ซึ่งทั้งคู่ได้พาแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงมาด้วย โดยแมวตัวดังกล่าวได้ถูกส่งไปโรงพยาบาลสัตว์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อซึ่งพบว่าผลเป็นบวก ในระหว่างการตรวจ แมวได้จามใส่สัตวแพทย์หญิง โดยสัตวแพทย์คนดังกล่าวใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัยแต่ไม่ได้ใส่เฟซชีลด์
ในเวลาต่อมาสัตวแพทย์หญิงมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19โดยตรวจพบเชื้อวัน 15 ส.ค.
เมื่อศึกษาลำดับจีโนม ร่วมกับระยะเวลาการติดเชื้อ มีความสัมพันธ์กับเจ้าของแมว 2 คน และ ตัวแมว ซึ่งสัตวแพทย์หญิงไม่เคยพบกับเจ้าของแมวมาก่อน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานในครั้งนี้คือ สัตวแพทย์น่าจะติดโควิด-19 มาจากการที่แมวจามใส่หน้า
ล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นแมวแพร่เชื้อโควิดสู่มนุษย์นั้น วันนี้ (20 มิ.ย. 2565) เวลา 14.30 น. รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามเกี่ยวกับประเด็นของการติดเชื้อโควิดจากแมวสู่คน ซึ่งข้อเท็จจริง คือ จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดจากแมวสู่คนนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ยังอยู่ในภาวะที่ต่ำมาก เพราะแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เมื่อติดโควิด สัตว์เหล่านี้แสดงอาการน้อย และโอกาสการแพร่กระจายเชื้อต้องเกิดจากการที่น้องแมว ไอ หรือ จาม หรืออุจจาระ เป็นต้น ซึ่งถ้าเราป้องกันเป็นอย่างดีก็จะลดโอกาสการติดได้
ข้อมูลจาก : นิวยอร์คไทม์ / CDC/ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาพจาก : AFP/ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์