TNN กรมวิทย์ฯ แนะ 4 ข้อควรระวัง เลือกใช้เจลแอลกอฮอล์-สเปรย์แอลกอฮอล์

TNN

เกาะติด COVID-19

กรมวิทย์ฯ แนะ 4 ข้อควรระวัง เลือกใช้เจลแอลกอฮอล์-สเปรย์แอลกอฮอล์

กรมวิทย์ฯ แนะ 4 ข้อควรระวัง เลือกใช้เจลแอลกอฮอล์-สเปรย์แอลกอฮอล์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะ 4 ข้อควรระวังและปัญหาที่มักพบในการใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์

วันนี้ (23 มี.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และหากไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่และน้ำได้ 

ทั้งนี้ แนะนำให้ใช้ "เจลแอลกอฮอล์" หรือ "สเปรย์แอลกอฮอล์" ที่เรียกโดยรวมว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำออก จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางควบคุมมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ เนื่องจากมีแอลกอฮอล์ 

ส่วนประกอบสำคัญ ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ คือ เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ในปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร และอาจมีสารฆ่าเชื้อ เช่น ไตรโคลซาน สารที่ทำให้เกิดสภาพเจล เช่น คาร์โบเมอร์ สารให้ความชุ่มชื้น ลดการแห้งของผิว เช่น ว่านหางจระเข้ ทีทรีออยล์ กลีเซอรอล สีและน้ำหอม เป็นส่วนผสม

สำหรับข้อควรระวังและปัญหาที่มักพบในการใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ มีดังนี้

1. ระเหยเร็ว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารที่ระเหยง่าย เมื่อหยดหรือฉีดลงบนฝ่ามือแล้ว ควรยื่นให้ออกห่างจากใบหน้าและลำตัว เพื่อป้องกันไอระเหยเข้าสู่จมูก และตาหรือหันหน้าออกไม่ให้รับไอระเหยโดยตรง

ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว และเล็บ แล้วปล่อยให้ระเหยหรือแห้งหมดก่อนที่จะไปสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย และควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ และการเปิดภาชนะบ่อยๆ อาจทำให้ปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ลดลง จนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง

2. ติดไฟง่าย ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถติดไฟได้ ดังนั้นการใช้ควรอยู่ให้ห่างจากเปลวไฟ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ควรระวังเป็นพิเศษ

3. ระคายเคืองผิวหนังและดวงตา ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กับเด็กทารก และบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา และบริเวณที่ผิวอักเสบ มีสิว มีบาดแผล เมื่อหยดเจลแอลกอฮอล์หรือฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ลงบนฝ่ามือแล้ว ไม่ควรสัมผัสใบหน้า จมูก และตา

กรมวิทย์ฯ แนะ 4 ข้อควรระวัง เลือกใช้เจลแอลกอฮอล์-สเปรย์แอลกอฮอล์

4. เครื่องสำอางปลอม หากมีการนำเมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์ มาผสมในผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 5 จะจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม เนื่องจากเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรม และห้ามใช้กับร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การสัมผัสทางผิวหนัง จะทำให้เกิดการสูญเสียชั้นไขมันของผิวหนัง แห้ง แตก เกิดผื่นแดง 

การหายใจรับไอระเหยของเมทานอลอาจทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจ หรือสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบากการมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้

เนื่องจากลักษณะภายนอกของเมทิลแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไม่มีความแตกต่างกันจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จากลักษณะ สี หรือกลิ่น ต้องทดสอบด้วยเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ มาตรวจวิเคราะห์ที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ก่อนขอจดแจ้งกับ อย. 

ซึ่งยังคงตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่บ้างในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ นั้น ผู้บริโภคต้องดูฉลากผลิตภัณฑ์ ระบุข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วิธีใช้ คำเตือน และต้องสังเกตเลขจดแจ้งที่ฉลาก หรือหากไม่แน่ใจ สามารถตรวจสอบเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ของ อย.


ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ