เฝ้าระวังไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์
เฝ้าระวังไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 หากหากไข้ยังไม่ลดหรือมีอาการปวดเมื่อยตามตัวมาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ให้รีบมาพบแพทย์
วันนี้ (21 มี.ค.65) นพ.เฉวตรสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ว่า ขณะนี้ได้มีการสื่อสารในทางระบบสาธารณสุข ให้ระมัดระวังและเฝ้าระวัง ในการวินิจฉัยโรค ที่อาจพบ 2 โรคในคนเดียวกันได้ คือ โรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันตามอาการ โดยที่ผ่านมามีการตรวจพบบ้างในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใกล้จะหายจากการรักษา และพ้นระยะแพร่เชื้อแล้ว แต่พบไข้เลือดออกร่วมด้วย
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่าในปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 คน แต่ปี 2565 ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้เพียงแค่ 3 เดือน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน โดยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 และยังพบอีกว่าทั้ง 3 ราย ที่เสียชีวิตนั้น ได้รับยาจากร้านยาบ้างซื้อยากินเองบ้าง เป็นยากลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด หรือเดิมคือ แอสไพริน ยาทันใจ ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ยอมรับว่าสิ่งที่กังวลของอาการไข้เลือดออก คือ หลังจากมีไข้สูง 2-3 วัน หากคนไข้มารับการวินิจฉัยช้าแล้วเกิดภาวะช็อค หลังจากไข้ลดแล้ว มีอาการซึมลง เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางราย มีอาการกดเจ็บที่ชายโคร่งทางขวา มีปวดท้องร่วมด้วย
ข้อมูลจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก ระบุว่า หากผู้ป่วยเป็นทั้งไข้เลือดออกและโควิด-19 พร้อมกัน ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเป็นโรคเดียว ซึ่งอาการช่วงต้น จะคล้ายกัน คือ มีไข้ ทำให้อาจจะสับสนในการวินิจฉัยโรคอยู่บ้าง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันทั้ง 2 โรค
สำหรับแนวทางการรักษาไข้เลือดออก หลักๆ คือ จะรักษาตามอาการ และให้สารน้ำอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆของผู้ป่วยวิกฤต ที่สำคัญขณะนี้ คือ ต้องวินิจฉัยผู้ป่วยให้ได้เร็ว เพื่อให้คนไข้พ้นช่วงอันตรายของโรค ซึ่งจะอยู่ในช่วง 1-2 วันแรก ที่ต้องควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ภาพจาก TNN ONLINE