TNN "หมอธีระ" อัปเดต Long COVID ผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิด-สมาธิ

TNN

เกาะติด COVID-19

"หมอธีระ" อัปเดต Long COVID ผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิด-สมาธิ

หมอธีระ อัปเดต Long COVID ผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิด-สมาธิ

หมอธีระ อัปเดต Long COVID ผลศึกษาสหรัฐฯ พบผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิดความจำหรือสมาธิ

วันนี้( 21 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดยระบุว่า "21 มีนาคม 2565 ทะลุ 470 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,111,134 คน ตายเพิ่ม 2,502 คน รวมแล้วติดไปรวม 470,783,239 คน เสียชีวิตรวม 6,100,155 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เวียดนาม เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.83 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.37 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 57.2 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 51.31

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

...อัปเดต Long COVID

Guo P และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดส์ สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Frontiers in Aging Neuroscience เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 

ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้นมีถึง 70% ที่มีอาการผิดปกติด้านความคิดความจำหรือสมาธิ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการมากนั้น พบว่า 75% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานได้ งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

แม้ COVID-19 จะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ความรู้การแพทย์ในปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย จนเกิดความผิดปกติในระยะเวลาต่อมา ดังภาพที่สรุปให้เห็นโดย Montani D และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินหายใจ European Respiratory Review 

การติดเชื้อนั้นแม้รักษาหายแล้วในระยะแรก แต่มีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดปัญหา Long COVID ได้ ผ่านหลายกลไกที่มีการตั้งสมมติฐานทางการแพทย์เพื่ออธิบาย ได้แก่ การกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Chronic inflammation), การติดเชื้อไวรัสแอบแฝงในเซลล์ต่างๆ (Persistent infection), การทำงานผิดปกติของอวัยวะและระบบของร่างกายจากการถูกทำลายโดยไวรัส (Dysfunction from viral damage), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody), และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis) 

สำหรับเมืองไทยเรา การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว ดังที่เคยวิเคราะห์ไปว่าขาลงมักใช้เวลานานกว่าขาขึ้นราว 1.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ทวีปยุโรป และบางประเทศในทวีปอื่นของโลกนั้นกำลังประสบกับการระบาดกลับซ้ำจากสายพันธุ์ BA.2 ดังนั้นหากเราไม่สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดได้ การระบาดก็จะปะทุเป็นขาขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ใครที่เคยติดเชื้อมาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท นอกจากนี้ยังควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการผิดปกติที่ต่างจากในอดีตหรือไม่ หากมี ก็ควรปรึกษาแพทย์ และไปตรวจสุขภาพ เพื่อที่จะได้รับการดูแลเกี่ยวกับ Long COVID อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที "




ภาพจาก AFP/Thira Woratanarat

ข่าวแนะนำ