หมอธีระเผยผลวิจัย Long COVID กระทบชีวิตประจำวันสมรรถนะลดลง 80%
หมอธีระเผยผลวิจัยของต่างประเทศอาการ Long COVID กระทบชีวิตประจำวันด้านสุขภาพ-การทำงาน สมรรถนะลดลง 80%
วันนี้( 16 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
“ข้อมูลจากรายงาน WHO ระบุว่า ปัจจุบันสายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลกถึง 99.9% ในขณะที่เดลต้าเหลือ 0.1%
...อัปเดต Long COVID
"อัตราความชุกของ Long COVID ในเยอรมัน ที่ผลกระทบต่อสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน มีสูงถึง 28.5%" Peter RS และคณะ จากประเทศเยอรมัน ติดตามศึกษาผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 11,710 คน อายุเฉลี่ย 44.1 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 60 โดยติดตามไปนานเฉลี่ย 8.5 เดือน
มีเพียง 3.5% ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องนอนรพ. (แปลได้อีกนัยหนึ่งคือ ส่วนใหญ่ป่วยเล็กน้อยหรือติดเชื้อแบบไม่มีอาการ) หากเจาะลึกเฉพาะคนที่มีอาการ Long COVID และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สุขภาพ และสมรรถนะการทำงาน จนทำให้ลดลงเหลือ 80% หรือน้อยกว่านั้น พบว่ามีความชุกสูงถึง 28.5% ของคนที่เคยติดเชื้อทั้งหมด และหากปรับตามฐานอายุและเพศ (age and sex standardized rate) ก็ยังคงสูงถึง 26.5%
ผลการศึกษาในเยอรมันนี้ ตอกย้ำความสำคัญของภาวะ Long COVID ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาในระยะยาว หากควบคุมป้องกันโรคไม่ดี ประเทศที่มีคนติดเชื้อจำนวนมากจะมีโอกาสพบคนที่ประสบปัญหานี้สูง ส่งผลกระทบต่อทั้งสถานะสุขภาพ ผลิตภาพจากการทำงาน และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือฟื้นฟูสภาพ ในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศ
Long COVID will be the "Pandemic after Pandemic"
การติดตามความรู้ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัว เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราประคับประคองตัวจนผ่านพ้นวิกฤติการระบาดระยะยาว
ใส่หน้ากากนะครับ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะกันสั้นๆ
ไม่กินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ หากไม่สบาย ควรบอกกันให้ทราบ หยุดเรียนหยุดงาน ไปรักษาให้หายดีเสียก่อน
อ้างอิง
Peter RS et al. Prevalence, determinants, and impact on general health and working capacity of post-acute sequelae of COVID-19 six to 12 months after infection: a population-based retrospective cohort study from southern Germany. medRxiv. 15 March 2022.
เครดิตภาพ: Bansal R et al. J Clin Transl Endocrinol. 2022 Mar;27:100284.”
ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
ภาพจาก : AFP