TNN ติดโควิดแบบไม่มีอาการ-อาการน้อย-อาการรุนแรง ก็เสี่ยงเป็น Long COVID

TNN

เกาะติด COVID-19

ติดโควิดแบบไม่มีอาการ-อาการน้อย-อาการรุนแรง ก็เสี่ยงเป็น Long COVID

ติดโควิดแบบไม่มีอาการ-อาการน้อย-อาการรุนแรง ก็เสี่ยงเป็น Long COVID

"หมอธีระ" เปิดข้อมูลยิ่งติดโควิดมาก โอกาสที่จะมีคนเป็น Long COVID ยิ่งสูง เพราะเป็นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง

วันนี้ (6 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 6 มีนาคม 2565 ทะลุ 445 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,357,667 คน ตายเพิ่ม 5,455 คน รวมแล้วติดไปรวม 445,110,090 คน เสียชีวิตรวม 6,014,866 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เวียดนาม รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.5 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.98

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.36 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 34.4

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 16 ของโลก

แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

..."ผู้ใหญ่ลี"

หากฟังเพลงผู้ใหญ่ลี จะสะท้อนให้ระมัดระวังเรื่องการสื่อสารได้ดี

ท่ามกลางการติดเชื้อใหม่หลายหมื่น และตายจำนวนไม่น้อยในแต่ละวัน รวมถึงสถานการณ์ที่คนติดเชื้อจำนวนมากที่ติดคอขวดของระบบบริการดูแลหรือให้คำปรึกษา ย่อมเป็นโจทย์หลักที่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต้องยอมรับและหาทางจัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน

การออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่า ได้ไปประเมินระบบรับมือการระบาดที่มี พบว่าอยู่ในระดับดีมาก แต่สถานการณ์จริงยังมีปัญหา ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ จึงต้องระมัดระวัง

โควิด-19 นั้นทั่วโลกกำลังอยู่ในขาลง โดยปัจจัยเรื่องเชื้อไวรัส วัคซีน รวมถึงหยูกยาต่างๆ ทำให้มีแนวโน้มที่จะระบาดรุนแรงในอนาคตลดลงตามลำดับ หลายประเทศจึงมองที่จะจัดการในลักษณะที่เป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตอันใกล้ เหลือเพียงรอให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงกว่านี้ และสามารถคาดการณ์ธรรมชาติของโรคและการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ได้อย่างแม่นยำขึ้น ก็จะมีโอกาสเป็นไปได้

แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของไทยเรา การระบาดยังรุนแรง จำนวนติดเชื้อใหม่และจำนวนเสียชีวิตนั้นยังสูงดังที่เห็น 

การดูตัวเลขจำเป็นต้องดูทั้ง RT-PCR และ ATK เพราะคนจำนวนมากที่ตรวจ ATK แล้วถูกกำหนดให้เข้ารับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR นอกจากนี้สัดส่วนของประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยังไม่มาก ยังไม่รวมถึงเรื่องการคาดการณ์ธรรมชาติของโรคที่ยังไม่นิ่ง การมองแบบโรคประจำถิ่นจึงยังไม่ใช่เวลาอันใกล้นี้ 

เรื่องสำคัญที่ควรทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ 

การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน เพราะสถานะปัจจุบันสะท้อนถึงมาตรการสาธารณสุขด้านการควบคุมป้องกันโรคที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ผลกระทบระยะยาวที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกังวลกันมากคือ Long COVID เพราะจะบั่นทอนสมรรถนะในการใช้ชีวิตของประชากร รวมถึงสมรรถนะในการทำงาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ยิ่งติดมาก โอกาสที่จะมีคนเป็น Long COVID ยิ่งสูง เพราะเป็นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ทั้งชายและหญิง

ล่าสุดงานวิจัยจากสหราชอาณาจักร ทั้งอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ เวลส์ และสก๊อตแลนด์ ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชากรกว่า 16,000 คน 

พบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 และการเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาวหรือ Long COVID ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงิน/รายได้ของครอบครัว มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่อยู่ในเศรษฐานะยากจนหรือปานกลางระดับล่าง จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย

นอกจากนี้การติดเชื้อโรคโควิด-19 ยังมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยจนต้องหยุดงานในระยะเวลาต่อมาและในระยะยาว

จะเห็นได้ว่า หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จะนำไปสู่ vicious cycle ในลักษณะ"ป่วย-จน-ป่วย" ในระยะยาวได้ 

ขอเป็นกำลังใจให้เราทุกคน ป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป้น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

จะได้ปลอดภัยไปด้วยกัน

สวัสดีวันอาทิตย์สุดสัปดาห์ครับ

อ้างอิง

Williamson AE et al. Acute and long-term impacts of COVID-19 on economic vulnerability: a population-based longitudinal study (COVIDENCE UK). medRxiv. 4 March 2022.


ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ