TNN อนุทิน ย้ำ ยังไม่ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นเพียงโรดแมปก่อน

TNN

เกาะติด COVID-19

อนุทิน ย้ำ ยังไม่ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นเพียงโรดแมปก่อน

อนุทิน ย้ำ ยังไม่ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นเพียงโรดแมปก่อน

"อนุทิน" ย้ำชัดยังไม่ประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นเพียงกำหนดแนวทาง หรือโรดแมป บริหารจัดการโควิด เพื่อให้ประเทศเดินหน้าและประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้เหมือนโรคประจำถิ่นทั่วไป ย้ำการรักษา ฉีดวัคซีน คัดกรองโรค เป็นไปตามสิทธิ์ ไม่มีผลกระทบ

วันนี้ (28 ม.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แทนโรคระบาด ว่า จะต้องมีการกระเมินสถานการณ์ก่อนจะประกาศ ซึ่งจะประเมินครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก่อน

ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์การประเมิน คือ อาการของผู้ติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ ต้องลดความรุนแรงของโรคให้ประชาชนสามารถอยู่กับโรคนี้ได้เหมือนโรคประจำถิ่นอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น

นายอนุทิน ได้ย้ำความสำคัญของการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ว่า เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ประชาชนก็ยังต้องต้องปฏิบัติตัวตามาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

ขณะที่ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อคงที่โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่จากคลัสเตอร์ปีใหม่แล้ว แต่เกิดจากการพฤติกรรมส่วนบุคคล และการเคลื่อนที่ ยืนยันกระทรวงสาธารณสุขมีเตียงรักษาเพียงพอ โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก รวมถึงมียารักษา และวัคซีนด้วยเช่นกัน 

ที่สำคัญต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งอาจจะทำให้จำนวนการแพร่ระบาดลดลงได้ เนื่องจากเด็กนำเชื้อไปสู่คนในครอบครัวได้ แต่หากดูอัตราการเสียชีวิตในประเทศขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน 

และมองว่าอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังน้อย โดยมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เนื่องจากวัคซีนเข็ม 3 จะเป็นการฉีดตามรอบระยะเวลา ไม่เหมือนวัคซีนเข็มที่ 1 ซึ่งหากมีการฉีดต่อเนื่องสัดส่วนก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น 

ส่วนที่มีการประหารือในประเด็นโควิดฟรีคันทรี นายอนุทิน ระบุว่า โควิดฟรีคันทรี จะเป็นประเทศที่ปลอดโควิด หรือเป็นพื้นที่ควบคุมโควิดได้อย่างดี ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ปลอดโควิดได้ คือ การฉีดวัคซีน มียาเวชภัณฑ์รองรับผู้ป่วย ประชาชนให้ความร่วมมือ ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีโควิด 

แต่หมายถึง เชื้อโควิดทำอะไรไม่ได้ ซึ่งไทยกำลังจะทำให้เป็นเมืองโควิดฟรีคันทรี ซึ่งส่วนตัวมองว่า อัตราการเสียชีวิตต้องเป็นศูนย์ ซึ่งประเทศไทยเคยทำได้ แต่ว่าประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ โดยการกดตัวเลขผู้เสียชีวิตได้ โดยต้องไปดูข้อมูลเชิงลึกว่า มีปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต เช่น โรคประจำตัว การรับวัคซีน แต่หากบุคคลนั้นปฏิบัติตัวตามาตรการสาธารณสุขทุกอย่าง แต่กลับเสียชีวิตถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเข้าไปดูข้อมูล

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ไทยยังไม่ได้ประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นเพียงการประกาศแนวทาง หรือ โรดแมป เพื่อทำแผน 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีกรอบเวลา 6 เดือน และระยะที่ 2 มีกรอบเวลา 6 เดือน

หากระหว่างนี้ไม่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่านี้ คาดว่าภายใน 6 เดือนจะพยายามทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เช่น การเร่งฉีดวัคซีน มาตรการควบคุมโรค รวมถึงข้อกฎหมายที่สอดคล้องกับการโควิด รวมถึงการจัดทำแผนรักษาพยาบาล 

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น จะไม่ครอบคลุมการรักษา การฉีดวัคซีน และการตรวจคัดกรอง นั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ไม่มีผลกระทบ อย่างการรักษาก็ให้เป็นไปตามสิทธิ์ 30 บาท ประกันสังคม ข้าราชการ หรือในกรณีแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่สิทธิ์ก็จะรักษาให้เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการเบิกจ่ายงบประมาณรักษาเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท 

ขณะที่ การรับวัคซีนโควิดในอนาคต รัฐยังคงเป็นผู้จัดการ และสนับสนุนวัคซีนในระยะแรก 2-3 ปีนี้เหมือนเดิม รวมไปถึงค่าชดเชยหากได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนด้วย 

ดังนั้น การที่จะให้บรรลุเป้าหมายโควิด เป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา เนื่องจากตอนนี้ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ต้องมีระบบจัดการกับตัวโรค มาพิจารณาจัดทำมาตรการกลวิธี รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกัน ย้ำการรักษาโรคไม่มีปัญหา ประเทศไทยที่มีระบบรักษาตามสิทธิ์ตามระบบที่ทุกคนมี

"ตั้งแต่มีโควิด 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมทุกวัน ติดตามสถานการณ์ อยู่ดีๆ ไม่ได้มีการประกาศแนวทางโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น แต่หมายถึงได้มีการประชุมติดตามความรุนแรงของโรค ภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ยาต่างๆ 

รวมถึง องค์ประกอบอื่นๆ การรับรู้ของประชาชน ตั้งเป้าไว้ไม่ให้เกินปีนี้ที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งถ้าเราปล่อยไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย มันก็จะใช้ระยะเวลามาก 

ตอนนี้ถึงแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะลดลงอัตราการเสียชีวิตลดลง แต่การระบาดยังมีอยู่ เราก็ต้องจัดการ ซึ่งต้องใช้การบริหารจัดการเป็นระบบ เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด เชื่อว่าน่าจะสามารถบริหารจัดการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ.


ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16


ข่าวแนะนำ