ไขคำตอบ หากโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" เบิกค่ารักษา-ขอค่าชดเชยได้หรือไม่?
กระทรวงสาธารณสุข เผยร่างหลักเกณฑ์ปฏิบัติเบื้องต้น หากโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาล การรับวัคซีน และการชดเชยหากได้รับผลกระทบจากฉีดวัคซีน จะเป็นไปตามสิทธิ์ที่ประชนชนแต่ละคนมี ยืนยันรัฐจะดำเนินการไม่ให้กระทบค่าใช้จ่ายประชาชนแน่นอน
วันนี้ (28 ม.ค.65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ช่อง 16 ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ หลังจากประกาศให้โควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น"
เบื้องต้นหากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เรื่องของสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งรับยากลับไปกินที่บ้าน เรื่องการฉีดวัคซีน รวมทั้งการชดเชย เมื่อได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน นั้น
รัฐจะดำเนินการไม่ให้กระทบประชาชนแน่นอน เพราะทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบตามสิทธิพื้นฐานที่แต่ละคนมี เช่น สิทธิ์ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
ทั้งนี้ นพ.เกียรภูมิ ได้ยกตัวอย่างว่า แนวทางจะเหมือนการรักษาไข้หวัดใหญ่ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเปิดให้คนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรีทุกปี เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนการรักษาจะเป็นไปตามสิทธิ์พื้นฐานที่แต่ละคนมีอยู่
ขณะที่ เมื่อวานนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ โดยได้กำหนดหลักไว้ 3 ข้อ คือ
1. โรคไม่รุนแรง รักษาได้ มีการระบาดและการติดเชื้อเป็นระยะ เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราป่วย เสียชีวิตไม่เกิน 1 รายต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือ ร้อยละ 0.1
2. ประชาชนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยประชาชนรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ประมาณร้อยละ 70-75
3. ระบบการรักษาต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากพิจารณาครบตามหลักที่กำหนดและ สถานการณ์เหมาะสมกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศให้เป็นดรคประจำถิ่น โดยไม่ต้องรอการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือประเทศอื่นประกาศก่อน.
ภาพจาก TNN ONLINE