เปิดความหมาย "โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น" ต้องเป็นอย่างไร
เปิดความหมาย “เมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น” แล้วเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร และ มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
วันนี้ ( 12 ม.ค. 65 )นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชในการร่วมเดินหน้ารับมือให้โควิด สู่โรคประจำถิ่น ทั้งการป้องกันตนเองสูงสุด และการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งระดับบุคคลและประเทศ โดยหลังจากการแพร่ระบาดถึงขั้นสูงสุดของการระบาดแล้ว โรคระบาดจะปรับเปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของของประเทศ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
โดยปัจจัยการพิจารณา โรคประจำถิ่น คือ
1.เชื้อลดความรุนแรง เช่น อัตราเสียชีวิตจากโควิด 19 ลดลงเหลือ 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย
2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน การติดเชื้อก่อนหน้า
3.ประเทศนั้นๆ มีระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุมหรือชะลอการระบาดได้อย่างดี (ตัวอย่างที่ดีในประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศ
สรุปได้ว่า “โรคประจำถิ่น” เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะบริเวณพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์
มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรื่อง "โรคประจำถิ่น" โดยแพทย์หญิงแคเธอรีน สมอลวู้ด หัวหน้าฝ่ายตอบสนองฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า จริงอยู่ที่ทุกฝ่ายประเมินว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังไม่ใช่ ตอนนี้ WHO ไม่สนับสนุนให้มีการสรุปเอง ว่าโควิดไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ เพราะการคิดเช่นนั้น เท่ากับเป็นการลดระดับความเข้มข้นของมาตรการ จากระดับโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ การกำหนดให้โรคใดก็ตามเป็นโรคประจำถิ่น อัตราการระบาดต้องมีความเสถียร และการแพร่กระจายหรือการติดต่อของโรคต้องคาดการณ์ได้ แต่โควิด-19 ยังไม่อยู่ ณ จุดนั้น
ภาพจาก : AFP