หากตรวจพบติดเชื้อโควิด "อาการโอมิครอน" แบบไหน? ที่มีความเสี่ยง
แพทย์เปิดข้อมูล อาการโอมิครอน ผู้ติดเชื้อ 48% จะไม่มีอาการ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (11ม.ค.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกมกราคม 2565 โดยระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 48% จะไม่มีอาการ จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจจากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการเชิงรุกจะได้รับการประเมินอาการทันที
ส่วนการตรวจ ATK ด้วยตนเอง ต้องติดต่อสายด่วน 1330 หรือช่องทางที่ สปสช.เตรียมไว้ หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มากจะให้ดูแลที่บ้าน
หากไม่สามารถทำได้จะให้ไปดูแลที่ชุมชน และถ้าเริ่มมีอาการแพทย์จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ตามดุลพินิจ ซึ่งการได้รับยาหลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วันจะได้ผลดี
ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้น เช่น เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง
ผู้ใหญ่มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยง
ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป ภาพรวมใช้เวลารักษา 10 วัน
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากผลตรวจเป็นบวก ขอให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการทุกราย โดยกรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดทีมกุมารแพทย์เป็นที่ปรึกษาในการประเมินอาการซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกคน ขึ้นกับการประเมินอาการแรกรับ
สำหรับอาการโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
- ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ (48%)
- อาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยที่ (41 ราย)
1. อาการไอ 54 %
2. เจ็บคอ 37 %
3. มีไข้ 29 %
4. ปวดกล้ามเนื้อ 15 %
5. มีน้ำมูก 12 %
6. ปวดศีรษะ 10 %
7. หายใจลำบาก 5 %
8. ได้กลิ่นลดลง 2 %
ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข / ศบค.
ภาพจาก TNN ONLINE / ศบค.