TNN (คลิป) ภูมิคุ้มกัน2ประสาน“ติดเชื้อ+เข็ม3” จบเกม “โอมิครอน”?

TNN

เกาะติด COVID-19

(คลิป) ภูมิคุ้มกัน2ประสาน“ติดเชื้อ+เข็ม3” จบเกม “โอมิครอน”?

(คลิป) ภูมิคุ้มกัน2ประสาน“ติดเชื้อ+เข็ม3” จบเกม “โอมิครอน”?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระบุว่าแม้จะแพร่เชื้อได้รวดเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไวรัสหวัด แต่การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น และการติดเชื้อตามธรรมชาติ จะสร้างภูมิคุ้มกันสองประสาน ทำให้สุดท้ายแล้วจะป้องกันการระบาดของโอมิครอนได้


ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ให้ข้อมูล ว่า โอมิครอนเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไวรัสหวัด  ซึ่งโอมิครอน มีความสามารถในการติดต่อโรคเฉลี่ย 1 คนที่ติดเชื้อจะสามารถแพร่เชื้อให้ได้ ประมาณ 8-15 คน ส่วนไวรัสหัดติดต่อกันได้ง่ายที่สุดในโลก มีค่าเฉลี่ย 1คนแพร่เชื้อได้ประมาณ 15-18 ส่วนโควิด สายพันธุ์ เดลตา มีค่า เฉลี่ย 1คนแพร่เชื้อได้ ประมาณ 6.5-8  คน แต่การแพร่เชื้อดังกล่าว  จะขึ้นอยู่ที่ปัจจัยสำคัญคือ  ต้องเป็นผู้ไม่เคยติดเชื้อ และยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน แต่ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 70 ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว และติดเชื้อตามธรรมชาติอีกจำนวนหนึ่ง  ดังนั้นโอกาสที่คนในประเทศไทยทุกคนจะติดเชื้อ โอมิครอน” พร้อมกันอย่างรวดเร็วจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้โอมิครอนระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน   ที่จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย รุนแรง  และเสียชีวิต นอกจากนี้ยังลดการเพิ่มจำนวนในตัวผู้ติดเชื้อและลดการระบาดระหว่างคนสู่คน เพื่อไม่ให้เกิดไวรัสชนิดใหม่แทนที่โอมิครอน   และข้อมูลก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก ยังคาดว่า ไวรัสโคโรนา 2019น่าจะยุติลงได้ในปี 2565 นี้  หากมีการฉีดวัคซีน 1-2 เข็ม อย่างน้อยร้อยละ 70  ทุกประเทศ ทั่วโลก


พร้อมระบุ การฉีดวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์ 2 เข็ม พบว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นขึ้นมามีประสิทธิในการเข้าจับและทำลายไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ลดลงไปกว่า 44 เท่าเมื่อเทียบกับไวรัสดั้งเดิม ที่ระบาดครั้งแรก“อู่ฮั่น”  และหากฉีด "เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 25 เท่า 


ส่วนกรณีที่มีการติดเชื้อ“โอมิครอน” โอมิครอนจะเข้าเพิ่มจำนวนในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่าสายพันธุ์ “เดลตา” ถึง 70 เท่า แต่ไม่แพร่ลงลึกไปทำลายเซลล์ปอดซึ่งก่อให้เกิดปอดอักเสบ จึงทำหน้าที่คล้ายวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์   โดยมีรายงานจากทีมวิจัยจากแอฟริกาพบว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอนภายใน 14 วัน จะมีการสร้างภูมิต่อต้าน  โอมิครอนเองถึง  14 เท่า และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้าน “เดลตา” ได้ถึง 4.4 เท่า   ดังนั้นหากมี โอมิครอน ระบาดพื้นที่ใดก็จะมีการสร้างแอนติบอดียับยั้งเดลตาไปด้วย  ซึ่งในช่วงที่มีการติดเชื้อตามธรรมชาติจากโอมิครอนอย่างรวดเร็วเป็นจึงเป็นช่วงที่เหมาะที่จะเร่งระดมฉีดวัคซีนเพื่อจบเกม  การระบาดของโควิด-19 เพราะจะเกิดเป็นภูมิคุ้มกันสองประสาน จากทั้งวัคซีนและจากการติดเชื้อโอมิครอนตามธรรมชาติ ประเทศที่พัฒนาแล้วควรฉีดเข็มให้ครบ 3 เข็ม เพราะฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 มาระยะหนึ่งแล้วภูมิเริ่มตกควรได้รับเข็มกระตุ้น 


ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบผุู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้นหลังปีใหม่เพราะมีการรวมตัวสังสรรค์กัน   แต่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดจำนวนตัวเลข ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้  และสิ่งที่สำคัญขณะนี้ จะต้องเร่งกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3  ให้ได้มากที่สุดและอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 หรือในกลุ่มอายุเกิน 60 และหรือ มีโรคเรื้อรัง 8 โรค เพื่อลดความรุนแรงให้ได้ ส่วนการดูแลรักษา จะรับผู้ป่วยที่มีอาการมากเข้าโรงพยาบาล ในกลุ่มสีเขียว  ที่มีอาการน้อย สามารถ แยกตัวที่บ้าน หรือ ในชุมชนที่จัดไว้  เพื่อเป็นการลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ส่วนอัตราการเสียชีวิตในช่วงระบาดของเดลตา ของประเทศไทย น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก อัตราการป่วยตาย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วน โอมิครอน ก็น่าจะลดลงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก หากทั่วโลกอัตราการป่วยตาย เหลือน้อยกว่าร้อยละ  0.1  หรือหนึ่งในพัน ก็จะเข้าสู่ยุคของ โรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล ที่จะสร้างปัญหาส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่



ข่าวแนะนำ