TNN WHO เตือน อย่าเรียกอาการ “โอมิครอน” ว่า “เล็กน้อย”

TNN

เกาะติด COVID-19

WHO เตือน อย่าเรียกอาการ “โอมิครอน” ว่า “เล็กน้อย”

WHO เตือน อย่าเรียกอาการ “โอมิครอน” ว่า “เล็กน้อย”

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเตือนอย่าเรียกอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า "เล็กน้อย" ยังคงทำผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้

วันนี้ ( 7 ม.ค. 65 )ด็อกเตอร์ เทโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงเตือนไม่ให้อธิบายอาการป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่า เป็นอาการ “เล็กน้อย” แม้จะดูเหมือนว่า โอมิครอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับ “เดลตา” โดยเฉพาะในคนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดครบแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ควรจะจัดประเภทโอมิครอนว่า ทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด

เทโดรสเตือนต่อไปว่า โอมิครอนก็ยังคงมีฤทธิ์เหมือนกับโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อน ๆ ยังสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลได้ จนถึงทำให้เสียชีวิตก็ได้ และการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว จนทุบสถิติสูงสุดในหลายพื้นที่ในโลก จนเปรียบเหมือนกับ “คลื่นยักษ์สึนามิโควิด” ที่ทั้งแรงและเร็วนั้น กำลังทำให้ระบบการรักษาพยาบาลทั่วโลก ต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง 

ผลการศึกษาหลายฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ระบุคล้ายกันว่า โอมิครอนมีความเป็นไปได้น้อยกว่า ที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก เมื่อเทียบกับโควิดกลายพันธุ์ตัวก่อน ๆ น่าจะเป็นสาเหตุของความเข้าใจที่ว่า โอมิครอนทำให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อย

แต่โอมิครอนสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และคนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดครบแล้วก็ยังติดโอมิครอนได้ด้วย แต่วัคซีนก็ยังคงมีความสำคัญมาก ในการช่วยป้องกันให้อาการไม่ทรุดหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต

WHO ได้สรุปสถานการณ์ล่าสุดของการระบาดของโควิดทั่วโลกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยทวีปอเมริกาสถานการณ์หนักที่สุด ผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และหนักที่สุดในสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 1 ล้านคนภายในเวลา 24 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (3 มกราคม) ที่ผ่านมา WHO ยังพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการทรุดหนักทั่วโลก ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เป็นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด

ผู้อำนวยการ WHO เปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลการกระจายวัคซีนต้านโควิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คาดว่า 109 ประเทศทั่วโลก จะพลาดเป้าหมายใหม่การฉีดวัคซีนของ WHO ที่เพิ่งตั้งเป้าใหม่ในปีใหม่นี้ว่า จะฉีดวัคซีนครบโดสให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรโลกภายในเดือนกรกฎาคมนี้.

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ