ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ประเด็นคำถามที่ 3 หลังจากที่จีนเคยประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารมาจนถึงปัจจุบันที่จีนสามารถต่อยอดและช่วยประเทศอื่นๆ ปลูกข้าวได้แล้ว ประเด็นนี้กำลังบอกอะไรแก่โลกบ้าง?
ประการแรก จีน “มุ่งมั่น” ที่จะเพิ่มระดับความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอย่างจริงจัง และ “มองไกล” ไม่อยากเห็นชาวจีนและมวลมนุษยชาติของโลกต้องเผชิญกับ “ความอดอยาก” อีก
ในภาพใหญ่ รัฐบาลจีนโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งชาติจีน (China Academy of Agricultural Science) ซึ่งถือเป็นองค์กรวิจัยด้านการเกษตรระดับชาติของจีน ได้กําหนดเป้าหมายการวิจัยที่ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก เครื่องจักรกลการเกษตร ความปลอดภัยทางชีวภาพ การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาพื้นที่ชนบท
ซึ่งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว การวิจัยเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่แตกต่างและท้าทาย และการพัฒนาเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรสมัยใหม่
ดังที่เราเห็นการส่งเสริมเทคโนโลยีการทำเกษตรอินทรีย์แบบแห้งในมณฑลชานซี ซึ่งมีภูเขาและเนินเขาคิดเป็นถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมด การปลูกข้าวในน้ำกร่อยในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง และการปลูกข้าวในทะเลทรายในมณฑลซินเจียง และนำไปขยายผลในเชิงภูมิศาสตร์ผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่แบบรวมศูนย์และกระจายในหลายระดับ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
นอกจากนี้ CAAS ยังส่งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านดังกล่าวไปช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลไปสู่การปรับปรุงธุรกิจการเกษตรขนาดเล็กให้มีความทันสมัย ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตในหลายพื้นที่ในวงกว้างที่ขึ้นอยู่กับ “ฟ้าฝน” หรือมีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกที่จำกัด ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรไปได้มาก
ประการถัดมา ในช่วงหลายปีหลัง CAAS ยังพยายาม “ต่อยอด” ออกไปนอกประเทศ โดยทํางานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเพื่อพัฒนาโครงการวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ และนำเอานวัตกรรมที่ค้นพบจำนวนมากดังกล่าวไปร่วมมือและถ่ายทอดไปยังหลายประเทศในโลก
ซึ่งทำให้หลายภูมิภาคที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล (หรือพื้นที่ที่เคยเป็นทะเล) เทือกเขา และทะเลทราย สามารถก้าวข้ามสภาพแวดล้อมที่จำกัดและความยากลำบากในการเพาะปลูกที่เคยเผชิญอยู่ได้ และพัฒนาขึ้นเป็น “แหล่งผลิตอาหารใหม่” ของโลก
นอกจากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว นานาประเทศยังพลอยได้รับประโยชน์มหาศาลจากการถ่ายทอดนวัตกรรมเหล่านี้ และช่วยลดความกังวลใจในเรื่องปากท้องในประเทศของตนเอง บางรายสามารถพัฒนาขึ้นเป็น “ผู้ส่งออก” ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนอาหารโลกไปได้มาก
จีนยังใช้แนวคิดดังกล่าวในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรให้แก่พันธมิตร โดยขยายการถ่ายทอดสายพันธุ์ใหม่ของสินค้าเกษตรจากข้าว ไปยังข้าวโพด และถั่วเหลือง ให้กับบราซิล ซาอุดิอารเบีย เวียตนาม และประเทศอื่นตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
การดำเนินการดังกล่าวช่วยลดระดับการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ที่มีราคาสูงขึ้น และช่วยเพิ่มปริมาณวัตถุดิบเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในด้านหนึ่ง และปรับระดับความมั่นคงทางอาหารของจีนให้สูงขึ้นได้ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งลดแรงกดดันและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ “สงครามการค้า” (Trade War) ที่สหรัฐฯ กดดันจีนในช่วงหลายปีหลัง
ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ้นสุดลง จีนอาจเปลี่ยนจาก “มังกร” เป็น “แพะ” ทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งอาจส่งผลให้ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้น
แต่ผมก็เชื่อว่า จีนจะไม่ยอมเป็น “เป้านิ่ง” และการดำเนินนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของจีนอาจจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผมถูกยิงคำถามก็คิอ ปัจจุบัน จีนใช้นวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิตผ่านการเพาะปลูกและปศุสัตว์อย่างไรบ้าง?
ท่านผู้อ่านอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามนำเอานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการใช้ระบบและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการทำเกษตรอย่างหลากหลาย อาทิ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ โดรน และกล้องวงจรปิด รวมทั้งระบบการตรวจวัดสภาพดิน และการเปิดและดูดน้ำกลับ
การนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรทำให้เกษตรกรจีนจำนวนมากไม่ต้องเหนื่อยขับขี่จักรยานไฟฟ้าเพื่อตรวจเทือกสวนไร่นาดังเช่นในอดีต แต่ปล่อยโดรนบินไปสำรวจและมองผ่านจอคอมพิวเตอร์ขณะนั่งจิบชาอย่างสบายอารมณ์
ยิ่งในบางพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ เช่น พื้นที่ภูเขา โดรนที่ปรับแต่งสําหรับการตรวจสอบและเชื่อมต่อกับแท็บเล็ตก็สามารภใช้ควบคุมการรดน้ำพืชผลจากระยะไกลได้อีกด้วย
เครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้ยังใช้ประโยชน์ในการตรวจจับสภาพอากาศ ระดับความชื้นในดิน และเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ซึ่งช่วยในการวางแผนล่วงหน้าและประหยัดเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกด้วย
ในมณฑลเหอหนาน แหล่งเพาะปลูกข้าวสาลีและธัญพืชที่สำคัญที่สุดของจีน ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรจะถูกส่งจากกรมการเกษตรท้องถิ่นผ่านเข้าสู่ระบบอัจฉริยะในพื้นที่ อันประกอบด้วยเสาที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ กล้องความละเอียดสูง และเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพดินและสภาพอากาศ ซึ่งเปรียบได้กับ “เสาอัจฉริยะ” รวมทั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลดาวเทียมระยะไกล
ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยัง "สมองดิจิตัล" ของหุบเขาด้านการเกษตรแห่งตอนกลางของจีน โดยได้รวบรวมข้อมูลดาวเทียมระยะไกลและจุดกระจายข้อมูลจากเสาอัจฉริยะจำนวนมากในสถานีตรวจสอบหลายจุดในพื้นที่
ทั้งนี้ พื้นที่ตอนกลางของจีนครอบคลุมบางส่วนของมณฑลชานซี เหอหนาน หูเป่ย หูหนาน อานฮุย และเจียงซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “หุบเขาเมล็ดพันธุ์” ฐานที่มั่นของหยวน หลงผิง (Yuan Longping) “บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม” และสำนักงานใหญ่ของกิจการข้าวชั้นนำของจีนอย่าง “Longping High-Tech” ที่พร้อมสรรพทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์
ขณะเดียวกัน สมองดิจิตัลจะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ความชื้นในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพของพืชผลสินค้าเกษตรผ่านแบบจําลองข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ก่อนส่งต่อไปยังเกษตรกรเพื่อช่วยในการปรับปรุงสายพันธุ์ การพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ และการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกที่มีมาตรฐานสูง
เมืองซินเซียง (Xinxiang) ทางตอนเหนือของมณฑลเหอหนาน ถือเป็น “เมืองนำร่อง” ในการดำเนินโครงการนี้ โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งขององค์กรเมล็ดพันธุ์ 74 แห่งและแพลตฟอร์มการวิจัย 53 แห่งในระดับมณฑลหรือสูงกว่า
จีนยังมีนวัตกรรมดีๆ อีกมากให้ค้นหา แต่วันนี้พื้นที่ของผมหมดลง ไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ