จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
รัฐบาลจีนผลักดันมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือ SME อีกบ้าง ไปติดตามกันต่อเลยครับ ...
มาตรการกลุ่มที่ 2 เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมในหลายแง่มุม เริ่มตั้งแต่การรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน โดยจีนมีมุมมองที่น่าสนใจในประเด็นนี้ผ่านการมองเรื่องการบริหารจัดการการจ้างงานว่าเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ การปล่อยให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่สูงก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลในที่สุด
เราจึงเห็นรัฐบาลจีนติดตามปัญหาการว่างงานและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อให้มั่นใจว่า SME สามารถที่จะประกอบธุรกิจได้ต่อไป ผ่อนคลายข้อจำกัด และช่วยให้การจ้างงานดำเนินไปอย่างเสถียรภาพ
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นปี 2020 คณะรัฐมนตรีจีนได้ออกเอกสาร “ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเสถียรภาพการจ้างงาน” ที่เสนอแนะให้ยกเลิกมาตรการจำกัดการกลับมาทำงานและการผลิตที่ไม่มีเหตุผล และการปรับปรุงมาตรฐานประกันภัยการว่างงานของ SME
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนมอง “การพักงาน” ว่าอาจส่งผลเสียในระยะยาว และพยายามทุกวิถีทางมิให้เกิด “การเลิกจ้าง” ของ SME โดยคณะรัฐมนตรีจีนเสนอขอให้ SME พิจารณาหลีกเลี่ยงการปลดคนงานหรือให้เลิกจ้างงานให้น้อยที่สุด
จีนจัดตั้งกองทุนรับประกันการจ้างงาน ยิ่งในกรณีของ SME ที่เติบโตเร็ว (Fast-Growing) รัฐบาลจีนก็สร้างกลไกการเพิ่มขีดความสามารถในการฃรองรับการจ้างงาน โดย SME สามารถรับเงินคืนจากเบี้ยประกันการว่างงานได้ 100% สำหรับพนักงานแต่ละคนที่ยังคงจ้างงานอยู่ต่อไป
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอาจถือเป็นมาตรการในระยะยาว เริ่มจากการพยายามรักษาดีเอ็นเอ (DNA) ของการเป็นผู้ประกอบการเอาไว้
สิ่งนี้ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศักษามิได้มุ่งมองหาแต่ตำแหน่งงานในบริษัทห้างร้านเท่านั้น แต่อาจเลือกที่จะ “สืบสาน” ธุรกิจของบรรพบุรุษที่สร้างไว้ หรือเผชิญกับการท้าทายครั้งใหม่ “ออกสู่ทะเลกว้าง” เพื่อหวังสร้างธุรกิจใหม่ของตนเอง
เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์มีความพร้อมอย่างแท้จริง จีนก็เดินหน้าจัดระเบียบระบบการศึกษา โดยมุ่งเน้นการผสมผสานการศึกษาแบบ “ไฮบริด” ที่ใส่ใจใน “ภาคทฤษฎี” ควบคู่ไปกับ “ภาคปฏิบัติ” และพยายามเสริมด้วยมุมมองด้านนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ดังเช่นในปัจจุบัน
ในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับว่า จีนมีความได้เปรียบในการดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมเหนือกว่าหลายประเทศ
เช่น ครั้งหนึ่งผมแวะไปสังเกตการณ์การเรียนวิชาหุ่นยนต์ในห้องเรียน นักเรียนระดับประถมการศึกษาก็มีโอกาสสัมผัสหุ่นยนต์จริงๆ หรือสามารถจัดคณะไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจการทำงานและการใช้ประโยชน์ของหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง
หรือครั้นจะเปิดการเรียนการสอนในวิทยาการใหม่ๆ จีนก็มักเตรียมการสร้างครูบาอาจารย์และส่วนอื่นๆ เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น ในการบรรจุ AI เข้าไปในหลักสูตรเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อปี 2019 จีนก็จัดให้มีหนังสือเรียนเป็นภาษาจีนที่ได้รับการปรับปรุงสาระอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ยังสะท้อนว่าจีนวางแผนและมีครูอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเองมากพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ขณะเดียวกัน นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนของจีนก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเปลี่ยนระบบการเรียนไปสู่มิติ “ภาคปฏิบัติ” และสนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น เต๋อเต้า (De Tao) สถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของภาคเอกชนได้จับมือกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ โดยเชิญบุคลากรชั้นนำระดับ “กูรู” ของโลกมาทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาพิเศษของสถาบันฯ และเชิญไปบรรยาย ร่วมทำวิจัยในโครงการที่เกี่ยวข้อง และเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การทำตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์
จากคำบอกเล่าของผู้บริหารและคณาจารย์ของสถาบันฯ ทำให้ผมได้ “ค้นพบ” หลายสิ่งที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ในวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ อาจารย์ประจำวิชาอาจกำหนดให้ “น้ำ” เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นอิสระ นักศึกษาอาจนึกถึงสารพัดสินค้าตั้งแต่แก้วน้ำ รองเท้ายางกันน้ำ ร่ม เสื้อกันฝน ชุดประดาน้ำ แพยาง และอื่นๆ
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อาจารย์ประจำวิชาท่านหนึ่งหยุดบรรยายและเชื้อเชิญให้นักศึกษาออกไปยืนตากฝนเพื่อฟังเสียงเรียกร้องจาก “สายฝน” การเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์กระตุ้นความคิดเพื่อให้นักศึกษารังสรรค์สินค้าที่แตกต่าง มีฟังชั่นที่ดีตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค และออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อเอาชนะสินค้าเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ การศึกษาแห่งนี้ยังถูกออกแบบการเรียนการสอนในระบบ “พิชชิ่ง” (Pitching) ที่การนำเสนอผลงานในแต่ละเทอมการศึกษาอยู่ในรูปแบบของโครงการที่เป็นรูปธรรม ไล่ตั้งแต่การออกแบบโทนสี ลายผ้า จนนำไปสู่งานออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป
สินค้าต้นแบบเหล่านี้ถูกนำเสนอต่อคณาจารย์และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในตอนปลายภาค เช่น การจัดประกวดเดินแบบ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือในเชิงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับนักศึกษา และสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ไปพร้อมกัน
และเพื่อให้เหมาะสมกับโลกของความเป็นจริง สถาบันฯ ก็ยังร่วมมือกับผู้จัดงานเดินแบบชั้นนำอย่าง Shanghai Fashion Week นำเอาผลงานที่ผ่านการประกวดเหล่านั้นไปจัดแสดงและเดินแบบในงานดังกล่าว ซึ่งเป็นการ “ยกระดับ” ผลงานของนักศึกษาสู่ระดับโลกอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังร่วมมือกันจัดประกวดแข่งขันโครงการใหม่ๆ มากมายและต่อเนื่องในทุกระดับ กิจกรรมเหล่านี้ช่วย “ลับคมสมอง” ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ และนำไปสู่การสร้างสตาร์ตอัพและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง
นักศึกษายังอาจเลือก “เดินหน้า” โครงการดีๆ ใน “ชั้นเรียน” ต่อไปรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนส่งเสริมจากสารพัดโครงการ “บ่มเพาะธุรกิจ” ที่กระจายในหลายพื้นที่ต่อไป
ในสวนอุตสาหกรรมไฮเทคที่กระจายอยู่นับร้อยแห่งในจีน เรายังอาจสังเกตเห็นศูนย์พัฒนาเด็กพรสวรรค์ที่เปิดโอกาสให้ทรัพยากรชั้นหัวกระทิที่มีความคิดอ่านดีๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวต่างชาติ สามารถเข้าไปขอรับการสนับสนุนและการบ่มเพาะได้
ยิ่งพอรัฐบาลจีนยกระดับนโยบายสู่ “การพัฒนาคุณภาพสูง” ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ก็ยิ่งทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาและวิจัยในจีนมีความ “เข้มข้น” และ “เปิดกว้าง” ยิ่งขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนสามารถสร้าง SME ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพในการแข่งขันเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีหลัง
ไปคุยกันต่อว่า จีนทำอย่างไรกับการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา และอื่นๆ ในตอนหน้าครับ ...
ข่าวแนะนำ