เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ผมรู้สึกว่า ผมพึ่งได้รับรู้การอุบัติขึ้นของ BRICS เมื่อไม่กี่ปีก่อน และจับตามอง “ความเติบใหญ่” ของสมาชิกแต่ละรายและพัฒนาการของความร่วมมือระหว่างกันอย่างใจจดใจจ่อ นึกไม่ถึงผ่านมาไม่นาน BRICS ได้สยายปีกในเวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร้เทียมทาน ...
BRICS ก่อกำเนิดที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์กเมื่อปี 2001 จากการหารือของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตแรงอย่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน
โดยที่มาที่ไปของชื่อกลุ่มต้องยกเครดิตให้กับจิม โอนีล (Jim O’Neill) หัวหน้าเศรษฐกรแห่งโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจชั้นนำของโลก ที่นำเอาตัวอักษรนำของแต่ละประเทศสมาชิกมาเรียงต่อกัน ในระยะแรก กลุ่มจึงได้ชื่อว่า “BRIC”
นับแต่การประชุมผู้นำครั้งแรกเมื่อปี 2009 ณ เมืองเยคาเตรินเบิร์ก (Yekaterinburg) ที่ได้รับชื่อเสียงว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งศิลปะข้างถนน” ของรัสเซีย ทั่วโลกต่างก็เริ่มเหลียวตามองพัฒนาการของ BRICS อย่างใกล้ชิด
การประชุมสุดยอดในปี 2011 ที่ซานย่า เมืองตากอากาศชื่อดังแห่งมณฑลไฮ่หนานของจีน ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงถึง “ความรุดหน้า” ครั้งใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับแอฟริกาใต้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการเปิดโอกาสให้หลายประเทศนอกกลุ่มเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น ทำให้ชื่อกลุ่มเปลี่ยนเป็น “BRICS” อันนำไปสู่ความคึกคักในเวลาต่อมา
BRICS ยังเต็มไปด้วยความพร้อมและศักยภาพทางเศรษฐกิจและทรัพยากร ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ สมาชิกของ BRICS ต่างติด 10 อันดับแรกของโลกในด้านพื้นที่และจำนวนประชากร โดยมีพื้นที่โดยรวมเกือบ 40 ล้านตารางกิโลเมตร หรือราว 27% ของผืนแผ่นดินโดยรวมของโลก และมีจำนวนประชากรกว่า 3,200 ล้านคน หรือกว่า 40% ของจำนวนประชากรโลก
นอกจากนี้ สมาชิกทั้ง 5 ประเทศยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 และส่วนใหญ่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสุดในแต่ละภูมิภาคย่อย โดยมีจีนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของกลุ่มที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพในช่วงหลายทศวรรษหลัง ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปด้วย
ทั้งนี้ การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดดังกล่าวก็มีความกระจุกตัวสูง เพราะจีดีพีของจีนใหญ่กว่าของประเทศที่เหลือรวมกันกว่า 2.5 เท่าตัว แต่สมาชิกรายอื่นต่างก็พยายามเรียนลัดจากจีนและคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เชิดหน้าชูตาเฉกเช่นจีนได้เช่นกัน
ลองคิดดูย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ที่จีนก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีจีดีพีอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีนมีขนาดเศรษฐกิจเพียง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น แล้วเป็นยังไง ผ่านมาเพียงหนึ่งทศวรรษเศษ จีดีพีของจีนทะยานขึ้นมาเฉียด 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
อินเดียอาจส่อเค้าว่าจะเจริญรอยตามจีนได้ เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน อินเดียสามารถเบ่งเศรษฐกิจได้เกือบเท่าตัวจาก 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่ G7 อาจเรียกว่าเป็นกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเดิม ก่อตั้งที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ โดยมีสมาชิกที่ร่วมมือ 6 ประเทศ หรือเรียกว่า “G6” ซึ่งประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ต่อมา สหรัฐฯ ก็ดึงเอาแคนาดาเข้ามาเป็นสมาชิกและนำไปสู่ชื่อ “G7” ขณะที่สหภาพยุโรปเข้ามามีส่วนร่วมในเวลาต่อมา แต่ไม่อยู่ในสถานะสมาชิกเต็มรูป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจและการเงิน และการทหารระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
G7 เป็น “กลุ่มเศรษฐีเก่า” ที่รวบรวม “ความมั่งคั่ง” ไว้มากที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนถึงความกระจุกตัวที่สูงมากในเวทีโลก เพราะสมาชิกกลุ่มทั้ง 7 มีจำนวนประชากรรวมไม่ถึง 10% ของประชากรโลก ขณะเดียวกันก็มีการกระจุกตัวภายในกลุ่มซ่อนอยู่อีกด้วย โดยผู้นำกลุ่มอย่างสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจเกือบเท่ากับของสมาชิกที่เหลืออีก 6 ประเทศรวมกัน
หากหยิบเอากลุ่ม BRICS และ G7 มาเปรียบเทียบกัน ก็อาจสร้างความตื่นตะลึงได้ เพราะย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่า BRICS ซึ่งมีจำนวนสมาชิกที่น้อยกว่า และมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่า จะมีขนาดเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า G7 ได้
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกต้องเผชิญวิกฤติโควิดและการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่ม BRICS ก็ยังคงเบ่งเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างไม่ลดละ และขยายต่อไปครอบคลุมคลุมร่วมมือทางการเมืองระหว่างกันมากขึ้น
ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ไม่เพียงไม่กระโดดร่วมแซงชั่นทางเศรษฐกิจรัสเซีย แต่ยังวางรากฐานในการเป็น “สะพานเศรษฐกิจใหญ่” ขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน
นอกจากนี้ หลักการสำคัญของ BRICS ที่ยึดหลักการของผลประโยชน์ร่วมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกและเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีจีนเป็น “พี่เบิ้ม” ในวงการการค้าภายในกลุ่ม BRICS แต่สมาชิกอื่นก็หันมาค้าขายระหว่างกันมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น จีนและอินเดียขยายการนำเข้าน้ำมันดิบราคามิตรภาพจากรัสเซีย จนทำให้รัสเซียเป็นแหล่งซัพพลายน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของจีนและอินเดียในปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนยังนำเข้าถั่วเหลืองและสินค้าเกษตรอื่นจากบราซิลสูงเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน บราซิลก็หันมาพึ่งพาปุ๋ยเคมีของรัสเซีย รวมทั้งการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมของจีนสู่ประเทศสมาชิก
ประการสำคัญ กลุ่ม BRICS ไม่เพียง “เปลี่ยนเกมส์” หันมาเติบโตจากภายในกลุ่มเท่านั้น แต่ยังหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำการค้าระหว่างกันอีกด้วย (ผมขอติดประเด็นนี้ไปเจาะลึกกันในโอกาสต่อไป)
กำลังสนุกเลย แต่วันนี้เนื้อที่ของผมซะแล้ว คราวหน้าผมจะพาไปดูพัฒนาการและสถานการณ์ของกลุ่ม G7 และเปรียบเทียบทิศทางระหว่าง 2 กลุ่มเศรษฐกิจนี้กันบ้างครับ ...