TNN การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อหลายวันก่อนผมให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการประชุมสองสภาของจีนเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และกล่าวถึง “การพัฒนาคุณภาพสูง” ว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงในวาระ 3 FC ของผมก็สงสัยว่า คำดังกล่าวมีความหมายอย่างไร และมีตัวอย่างที่จับต้องได้หรือไม่ ...

ในแง่ของความสำคัญเชิงนโยบาย “การพัฒนาคุณภาพสูง” (High-Quality Development) ถือเป็นคำที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดในระหว่างการประชุมสองสภาที่ผ่านมา โดยถูกกำหนดให้เป็นแนวทางที่จะนำพาจีนไปสู่การพัฒนาอีกระดับหนึ่งในอนาคต

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมขอนำกรณีศึกษาของการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ที่มักถูกใช้เป็นเมือง “นำร่อง” มาเป็นต้นแบบของจีนเพื่อการพูดคุยเชิงลึกกัน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ถือเป็นแหล่งทดสอบทดลองหลายนโยบายสำคัญของจีน อาทิ  เขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) และรถยนต์ไร้คนขับ (AVs) รวมทั้งการพัฒนากลุ่มเมืองบนหลักการเศรษฐกิจ 1 ชั่วโมงเดินทาง และชุมชน 15 นาทีเดิน 

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเป็นเสมือน “ห้องรับแขกใหญ่” ต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติชั้นนำของจีน ในปี 2022 FDI ที่เข้าพื้นที่ยังมีมูลค่าถึงราว 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนับเป็นที่ 3 ติดต่อกันที่เซี่ยงไฮ้มียอด FDI มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในมิติเชิงลึก เซี่ยงไฮ้ยังเป็นแหล่งรองรับการลงทุนสำหรับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนาของกิจการข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายปีหลัง ผมจำได้ว่า “นวัตกรรม” (Innovation) เคยเป็น “คีย์เวิร์ด” สำคัญที่พูดกันมาก ในช่วงเวลาราว 2 ชั่วโมงของการรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวคำว่า “นวัตกรรม” ถึง 77 ครั้ง!!!

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ตลอดเวลาหลายปีต่อมา จีนทำให้ “นวัตกรรม” มิได้เป็นเพียง “คำโก้หรู” แต่ยังนำมาดำเนินการจนเกิดเป็นรูปธรรมในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับทิศทางให้ความสำคัญกับ “การวิจัยพื้นฐาน” จากภายในของตนเองมากขึ้นโดยลำดับ

ทั้งนี้ ในปี 2022 จีนทุ่มงบวิจัยและพัฒนารวม 3.1 ล้านล้านหยวน หรือมีมูลค่าเกือบเท่าจีดีพีของไทยเลยทีเดียว แถมยังเพิ่มขึ้นถึง 10.4% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักเป็นเวลา 7 ปีต่อเนื่อง 

ด้วยตลาดจีนที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว กิจการของจีนและเทศที่ลงทุนในจีนจึงต่างพยายามต่อยอด “Made in China” (ผลิตในจีน) ไปสู่ “Created in China” (สร้างสรรค์ในจีน) โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของจีน

ในปี 2023 เซี่ยงไฮ้ยังตั้งเป้าที่จะดึงกิจการข้ามชาติเข้าไปตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 60 ราย และสถาบันวิจัยและพัฒนาอีก 25 ราย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขยายความเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น

เซี่ยงไฮ้มิได้สักแต่ว่ากำหนด “เป้าหมายสูง” แต่ยังออกนโยบายและมาตรการชุดใหญ่เพื่อ ส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ และเสริมสร้างเสถียรภาพและห่วงโซ่อุปทาน โดยไม่มองข้ามนโยบายการเปิดกว้างเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพสูง

การพัฒนาคุณภาพสูง … จากบิ๊กเทคสู่บิ๊กฟาร์มา (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดยพยายามสร้าง “เวที” ของการแข่งขันที่เท่าเทียมกันผ่านนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และดิจิตัล โดยกิจการที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการอุดหนุนและรางวัล ตลอดจนการเปิดให้กิจการต่างชาติสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มบริการและช่องทางการร้องเรียน รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมประมูลในโครงการจัดซื้อของภาครัฐ

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังพร้อมจะอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดธุรกิจบริการหลากหลายประเภทเข้าไปลงทุนในพื้นที่ อาทิ กิจการหลักทรัพย์ กองทุน การซื้อขายล่วงหน้า การประกันชีวิต การจัดการเงินบำนาญ การจัดการความมั่งคั่ง และการจัดการการเงิน 

รวมทั้งยังเชื้อเชิญให้กิจการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศให้เข้าไปลงทุนตามแนวชายฝั่งทะเลและทดลองให้บริการในพื้นที่ และประกาศช่วยสนับสนุนการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือคุณภาพสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในพื้นที่

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 FDI ที่หลั่งไหลเข้าสู่จีนขยายตัวในอัตราถึงราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผสมโรงเข้ากับการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตแรงด้วยแล้ว ผมจึงคาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเป้าหมาย 5% ที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้มาก

เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบริการถ่ายโอนข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการเช่าซื้อและธุรกิจ และบริการวิจัยและเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 3 ใน 4 ของอุตสาหกรรมบริการโดยรวม

ด้วยการส่งเสริมจนเกิดเป็นโมเมนตัมดังกล่าว นักวิเคราะห์ก็คาดว่า การลงทุนในสำนักงานภูมิภาคและศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทข้ามชาติในเซี่ยงไฮ้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การวิจัยและพัฒนาของจีนเติบโตขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประเมินว่า จำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาที่ Global R&D China Center ณ นครเซี่ยงไฮ้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนแตะ 900 คนในสิ้นปีนี้

คราวหน้าผมจะพาไปส่องดูรายละเอียดของการพัฒนาคุณภาพสูงผ่านอุตสาหกรรมยาในเซี่ยงไฮ้กันครับ ...


ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ