TNN เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีในจีนที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนกังวลใจว่า เทคโนโลยีระดับสูงเหล่านั้นจะเข้ามาแทนที่คน หากเทคโนโลยียังคงพัฒนาไปเช่นนี้ จีนอาจจะต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานที่สูงในอนาคต จีนมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร และพัฒนาอาชีวศึกษาในภาคการต่างประเทศอย่างไร ...

หากไม่มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือที่เหมาะสม คุณภาพของแรงงานจะไม่สามารถใช้กับเครื่องจักรเครื่องมือในอนาคตได้ งานวิจัยหนึ่งเคยประเมินไว้ว่า ราว 50% ของแรงงานจีนจะตกงานภายในปี 2030 รัฐบาลจีนก็ตระหนักดีถึงข้อห่วงใยดังกล่าว และไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าเหล่านั้นไป 

ดังนั้น ในช่วงหลายปีหลัง จีนจึงพยายาม Up-skill และ Re-skill ใน “เชิงรุก” เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคการผลิตของประเทศในอนาคต โดยจีนได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องผ่านศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในเมืองชิงเต่า ช่วงนั้นรัฐบาลจีนมีนโยบายยกระดับการผลิตสู่ “เทคโนโลยีระดับสูง” ซึ่งสิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ศูนย์ฯ เหล่านั้นเพิ่มคำว่า “High-Tech” เข้าไว้ในชื่อ และปรับปรุงเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในศูนย์ฯ อย่างขนานใหญ่ ขณะที่ครูอาจารย์ในศูนย์ฯ ก็ง่วนอยู่กับเรียนรู้กับ “ความทันสมัย” เพื่อให้พร้อมรับมือกับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ใหม่แก่ช่างเทคนิคในอนาคต

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ทั้งนี้ จีนได้พัฒนาระบบทวิภาคีผ่านการจัดตั้งพันธมิตรรวมมากกว่า 1,500 กลุ่มการอาชีวศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงสถาบันอาชีวศึกษา สถาบันวิจัย กิจการเอกชน และอื่นๆ ไว้ถึง 45,000 องค์กร ทำให้จีนสามารถจัดตั้งศูนย์ “ฝึกงาน” ภายในประเทศได้ถึง 24,900 จุด โดยเอกชนที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินการคลัง อาทิ สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ สิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 

และจีนยังจะเดินหน้าดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจนถึงปี 2025 จีนวางแผนจะจัดกิจกรรมฝึกอบรมแก่บุคลากรของภาคธุรกิจและกลุ่มการจ้างงานหลักรวมมากกว่า 20 ล้านกิจกรรม และพัฒนาทักษะฝีมือระดับสูงแก่บุคลากรมากกว่า 2 ล้านคน!!! 

ในระดับระหว่างประเทศ จีนยังได้ส่งเสริมการความร่วมมือในด้านอาชีวศึกษากับนานาประเทศ อาทิ การดำเนินการผ่าน “ความริเริ่มการพัฒนาโลก” (Global Development Initiative) และ “วาระแห่งยูเอ็น 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development)

โดยจีนพยายามดำเนินการในหลายรูปแบบควบคู่ไปกับการเปลี่ยน “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ในปีนี้ จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ โดยกระทรวงศึกษาธิการของจีน ยูเนสโก้ และรัฐบาลเทียนจิน ได้ร่วมกันจัดงานประชุม “World Vocational and Technical Education Development Conference” ที่เทียนจินภายใต้แนวคิดหลัก “การพัฒนาอาชีวศึกษาและช่างเทคนิคในยุคหลังโควิด – การเปลี่ยนแปลงใหม่ แนวทางใหม่ และทักษะใหม่” โดยมีตัวแทน ราว 700 คนจาก 123 ประเทศและภูมิภาคเข้าร่วม

เทียนจินถือเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่และการศึกษาทันสมัยของจีน รวมทั้งยังเป็นพื้นที่การปฏิรูปอาชีวศึกษา การสาธิตนวัตกรรม และเจ้าภาพการแข่งขันทักษะฝีมือระดับชาติมาหลายครั้ง

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

จีนยังสร้างเวทีการแข่งขันด้านอาชีวศึกษาระดับชาติและนานาชาติ และให้ความสำคัญกับการยกระดับการจัดการด้านครูอาจารย์และตำราอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งรางวัลพิเศษระดับชาติขึ้นมากมายเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ครูอาจารย์ อาทิ การแข่งขันด้านเครื่องมืออุปกรณ์ดิจิตัล และการพิมพ์ 3 มิติ แถมยังใช้ประโยชน์จากเวทีการประชุมและการแข่งขันนานาชาติในการจัดพิธีการมอบรางวัลดังกล่าว

นอกจากนี้ จีนยังจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษา “หลู่ปันเวิร์กชอปส์” (Luban Workshops) จำนวน 20 แห่งใน 19 ประเทศ/ภูมิภาค โดยประเทศแรกๆ ที่จีนขยายความร่วมมือด้วยก็ได้แก่ ไทย และยังวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนศูนย์ฯ ดังกล่าวอีก 20 แห่งในประเทศตามแนวเส้นทาง “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และประเทศในแอฟริกาในอนาคต

อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลจีนดำเนินการ ก็คือ การผ่านร่างกฎหมายด้านอาชีวศึกษา (Vocational Education Law) ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2022 

นี่ถือเป็นการปรับปรุงสาระของกฎหมายฉบับปี 1996 หรือครั้งแรกในรอบ 26 ปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่นี้มุ่งสร้าง “ความเท่าเทียม” ระหว่างการศึกษาระหว่างมัธยมปลายกับ ปวช. และอนุปริญญาตรีกับ ปวส. ผ่านระบบ “กาลักน้ำ” ให้การพัฒนาคนในสองระบบไหลลื่นระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังตั้งเป้าหมายที่จะให้อาชีวศึกษาเป็นระบบที่ทันสมัยภายในปี 2025 และมุ่งหวังให้ผู้ที่จบการศึกษามีสถานะทางสังคมและเส้นทางอาชีพที่ดีขึ้นในระยะยาว อาทิ ฐานเงินเดือนที่ทัดเทียมกับผู้ที่จบการศึกษาในระบบปกติ รวมทั้งคาดว่าระบบจะถูกยกระดับสู่ระดับโลกภายในปี 2035

ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนยังได้รายงานว่า รัฐบาลจีนโดยกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม (Ministry of Human Resources and Social Security) ได้ประกาศเพิ่มผลประโยชน์แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคในช่วงแผนฯ 14 

ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาของจีนก็ใกล้เปิดเสรีแก่เอกชนและต่างชาติมากขึ้น ในด้านหนึ่งเพื่อหวังเอาประโยชน์จากระบบการบริหารจัดการและการเรียนการสอนที่ทันสมัย คณาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ และอื่นๆ จากต่างประเทศ

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนและต่างชาติจะเป็นไปอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ค่าเล่าเรียนไม่แพง หรือสร้างภาระทางการเงินแก่พ่อแม่ผู้ปกครองจีนมากเกินไป สอดคล้องกับแคมเปญ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ที่เป็นเสมือน “ร่มใหญ่” ที่ใช้เป็นหลักการสำคัญในการกำกับควบคุมเกือบทุกภาคส่วนในจีนในปัจจุบัน

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การออกมาตรการส่งเสริมของภาครัฐแก่ผู้ศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษา อาทิ การปรับปรุงบริการ และการประกันอุบัติเหตุแก่เด็กฝึกงาน ขณะเดียวกันผู้ที่จบอาชีวศึกษาก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการจ้างงาน การเป็นผู้ประกอบกิจการ และการเข้ารับอาชีพทหาร รวมทั้งการได้รับตำแหน่งทางวิชาการ และการจ้างงานในองค์กรสาธารณะ

มาตรการส่งเสริมและผลตอบแทนที่ดีขึ้นนับเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่เชื่อมโยงไปยังประเด็นการช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ และจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เด็กจีนศึกษาต่อในด้านอาชีวะมากขึ้นในเชิงปริมาณ ยกระดับฝีมือแรงงานในเชิงคุณภาพ และประกอบอาชีพในด้านเทคนิค อันจะส่งผลให้ทรัพยากรมนุษย์ของจีนมีจำนวนและระดับทักษะฝีมือที่ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการยกระดับภาคการผลิตของจีน 

เหล่านี้จะเป็นผลดีต่อการสานต่อความพยายามที่จะพัฒนาประเทศบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของจีนในเวทีระหว่างประเทศในระยะยาว

ในอนาคต ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาของจีนไม่เพียงจะ “ไม่น้อยหน้า” แล้ว ยังอาจ “นำหน้า” บัณฑิตในด้านอื่นๆ …


อ่านเพิ่มเติม

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ