อัปเดตความคืบหน้าของ CBDC ในต่างประเทศ วิเคราะห์โดย Zipmex
อัปเดตความคืบหน้าของ CBDC ในต่างประเทศ วิเคราะห์โดย กีรติ เตชะพุทธพงศ์ Research Specialist Zipmex
ก่อนหน้านี้ Zipmex ได้เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับ Central Bank Digital Currency (CBDC) โดยเคยได้กล่าวถึง CBDC ในเชิงที่เกี่ยวกับแนวคิดและความคาดหวังว่าระบบนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินเดิมที่มีอยู่อย่างไรได้บ้าง ซึ่งในบทความนี้จะมาดูกันว่าโปรเจกต์ CBDC ของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ดำเนินไปถึงขั้นตอนใด และมีความคืบหน้าอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติม
พัฒนาการเกี่ยวกับ CBDC ของธนาคารกลางในต่างประเทศ
ก่อนอื่นขอทบทวนคร่าว ๆ ว่าแนวคิด Retail CBDC ของธนาคารกลางนั้น เป็นการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางเพื่อลดการใช้เงินสดทั้งในภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งระบบดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการชำระเงินที่มีความปลอดภัย เข้าถึงง่าย รวดเร็ว มีเสถียรภาพ น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ นอกจากนั้น ยังช่วยป้องกันปัญหาการผูกขาดของผู้ให้บริการทางการเงินของภาคเอกชน และลดความเสี่ยงจากสกุลเงินดิจิทัลที่เอกชนเป็นผู้ออก เช่น การสูญเสียมูลค่า ความน่าเชื่อถือ และระดับการยอมรับที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความมั่นคงกว่า และมีสภาพคล่องสูงสุด ซึ่งขณะนี้ Retail CBDC เปิดตัว และได้รับการพัฒนาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ
(https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256501Theknowledge.aspx)
สหรัฐอเมริกา
(https://www.nytimes.com/2022/05/05/business/dealbook/fed-inflation-economy.html)
ตามรายงานการวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐ (The Federal Reserve: Fed) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มกราคม 2022 ได้ระบุว่า Fed ได้มีการทดลองเชิงเทคนิคของ CBDC ในหลายด้าน ดังนี้
• มีการตั้งสมมุติฐานด้านการนำเทคโนโลยี และระบบที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์: The Board’s Technology Lab ได้ประเมินศักยภาพของการออกแบบ CBDC แบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่มีอยู่
• สำรวจรูปแบบการนำ CBDC ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชน: Federal Reserve Bank of Boston ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ผ่าน Digital Currency Initiative เพื่อสำรวจการพัฒนาแพลตฟอร์มทางเลือกอื่น ๆ
• พิจารณาการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) สำหรับการชำระเงินแบบค้าส่ง: The Board’s Technology Lab ได้ศึกษาว่าเทคโนโลยี Distributed Ledger สามารถรองรับการชำระดุลระหว่างธนาคารได้ด้วยวิธีใด
• ปรับปรุงบริการที่มีอยู่เพื่อรองรับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน: Board’s Technology Lab ศึกษาการใช้ API เพื่อรองรับการออก, จัดสรร และใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน
นอกจากนั้นยังมีการวิจัยทางด้านเศรฐกิจ และนโยบาย โดยเน้นไปที่การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และเสถียรภาพทางการเงินผ่านความร่วมมือเชิงวิชาการ ที่พิจารณาถึงรูปแบบ CBDC ที่สามารถรองรับการเข้าถึงบริการทางการเงินของทุกภาคส่วนได้ โดยเน้นระบบที่ประชากรที่เป็นกลุ่มผู้ใช้เงินสด และกลุ่มเสี่ยงจะสามารถเข้าถึง และได้รับประโยชน์จากการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของนโยบาย ได้มีการศึกษาถึงประเด็นด้านสกุลเงินดิจิทัล, ความเป็นส่วนตัว และผลกระทบของนโยบายการเงินสำหรับ CBDC และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยเอกชนอีกด้วย ซึ่ง Fed ได้มีการประชุมหารือกับภาคเอกชน, ธนาคารกลางต่างประเทศ และนักวิชาการ เพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาด และเพื่อให้ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางวิชาการเข้าใจในเนื้อหาที่ Fed กำลังพิจารณาเกี่ยวกับ CBDC ได้ดียิ่งขึ้นในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการชำระบัญชี และนวัตกรรมการเงิน
สหภาพยุโรป
(https://www.politico.eu/article/eu-court-decision-waives-ecb-officials-criminal-immunity/)
ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออก Occasional Paper ว่าด้วยเรื่อง สกุลเงินยูโรดิจิทัลของธนาคารกลาง และการเป็นตัวกลางของธนาคาร (Central Bank Digital Currency and Bank Intermediation) ในเดือนพฤษภาคม 2022 ได้ระบุว่าที่ผ่านมาธนาคารกลางได้ศึกษา และพิจารณาถึงข้อได้เปรียบ และผลกระทบของ CBDC ซึ่งยังอยู่ในระยะค้นคว้าข้อมูลสำหรับฟีเจอร์ของยูโรดิจิทัล และด้านกฎระเบียบที่วางอยู่พื้นฐานของความโปร่งใส และความเชื่อมั่นจากภาคประชาชน โดยหวังให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม Centre for European Reform (CER) หนึ่งใน Think Tank ของสหภาพยุโรป ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ CBDC ของ ECB ที่เผยแพร่เมื่อ วันที่ 7 มิถุนายน 2022 ได้วิเคราะห์ถึง CBDC ว่าจะเป็น “ความล้มเหลวราคาแพง” ของสหภาพยุโรป และเป็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อเป้าหมายของธนาคารกลาง ถ้าธนาคารกลางไม่สามารถเสนอผลตอบแทนที่น่าดึงดูดแก่ผู้บริโภคได้เหมือนกับภาคเอกชน เนื่องจากประเด็นด้านความปลอดภัยยังไม่ใช่ข้อเสนอที่น่าสนใจที่จะสร้างการยอมรับในวงกว้างได้ สำหรับสหภาพยุโรป มีเพียงการออกกฎระเบียบเพื่อให้การชำระเงินในยุโรปมีต้นทุนต่ำลง, มีความหลากหลายมากขึ้น, ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และการสร้างนวัตกรรมเท่านั้นที่ดูสมเหตุสมผล
สาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการผลักดัน และพัฒนา CBDC จีนมีโปรเจกต์ Digital Currency Electronic Payments (DCEP) เพื่อที่จะลดการใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ และเป็นกลไกในการป้องกันการผูกขาด, การฟอกเงิน, การเลี่ยงภาษี และอาชญากรรมทางการเงินต่าง ๆ โดยผลักดันการใช้งาน e-CNY หรือ หยวนดิจิทัลเพื่อนำร่องในเมืองใหญ่ ๆ แล้ว ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เฉิงตู และอีกหลายหลากเมือง ซึ่งรัฐบาลจีนได้เปิดตัวแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับชำระเงินในรูป e-CNY โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันธุรกรรมจากธนาคาร หรือบริษัทบัตรเครดิต เป็นการลดเวลา และตัดค่าธรรมเนียมธุรกรรมออกไป
ธนาคารกลางจีนเผยว่า ในปี 2021 มีการทำธุรกรรมของหยวนดิจิทัลมากกว่า 87.6 พันล้านหยวน และมีการเปิดใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลแล้วกว่า 261 ล้านราย นอกจากนั้น การใช้หยวนดิจิทัลยังเพื่อเป็นการยกระดับความโปร่งใส และประสิทธิภาพของนโยบายของรัฐบาล เช่น เมื่อรัฐบาลออกมาตรการเยี่ยวยา ประชาชนจะได้รับหยวนดิจิทัลโดยตรงจากธนาคารกลางเข้าไปที่กระเป๋าเงินดิจิทัลโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่นก่อนถึงมือประชาชน เป็นต้น และยังมีแผนการนำหยวนดิจิทัลไปใช้เพื่อการจ่ายเงินบำนาญ, เงินอุดหนุนต่าง ๆ จากรัฐบาล และค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตอีกด้วย
ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่นำ Retail CBDC มาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว และมีอีกหลายประเทศที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบนี้อยู่ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังพัฒนาโปรเจกต์นี้อยู่เช่นกัน กล่าวคือ CBDC นั้นไม่เพียงแต่เน้นการทำธุรกรรมภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีการพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถใช้เงินสกุลดิจิทัลของแต่ละประเทศชำระเงินระหว่างผู้ใช้ในระดับระหว่างประเทศได้แล้ว อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ เนื่องจากสินค้าที่อิงมูลค่าดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก : กีรติ เตชะพุทธพงศ์ Research Specialist Zipmex https://zipmex.com/th/
ภาพจาก : AFP