TNN ทิศทางทองคำ จากการที่ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

TNN

คอลัมนิสต์

ทิศทางทองคำ จากการที่ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

ทิศทางทองคำ จากการที่ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี ตอบรับสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด วิเคราะห์โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

Gold Bullish
Gold Bearish
ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้
 สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงมากขึ้น
 ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
การกระจายวัคซีนโควิด-19


ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี ตอบรับสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

           ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทองคำปรับตัวลงแรงในระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ได้ตอบรับการส่งสัญญาณของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าวันที่ 3-4 พ.ค. ที่ใกล้จะถึงนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในครั้งนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐยิ่งแข็งค่าต่อเนื่องมากที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 2545 ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ ที่ดอลลาร์แข็งค่าในขณะนี้ คือการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และมีแนวโน้มอาจใช้มาตรการเชิงรุกที่ตามมาในการประชุมครั้งต่อไป ขณะที่ค่าเงินเยนก็อ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นให้คำมั่นจะซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปีอย่างไม่จำกัดยิ่งช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด ส่วนค่าเงินยูโรก็ร่วงลงต่ำกว่าระดับจิตวิทยา เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่ารัสเซียจะงดจ่ายน้ำมันไปยังส่วนต่าง ๆ ของภูมิภาค เนื่องจากการปฎิเสธที่จะจ่ายเป็นเงินรูเบิล ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้เตือนถึงผู้ซื้อก๊าซรัสเซียว่าเป็นการฝ่าฝืนการคว่ำบาตร หากจ่ายก๊าซเป็นค่าเงินรูเบิล ซึ่งยังคงสร้างความสับสนให้กับยุโรป ทั้งนี้สกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดออลาร์มากขึ้น

          การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐนับว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อในประเทศอื่น ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปจะชี้ว่าสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงาน และสภาวะทางการเงินที่ตึงตัว เช่นเดียวกับที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับแนวโน้มการเติบที่ชะลอตัว  

         นอกจากนี้ วิกฤติการณ์ในตลาดเกิดใหม่เกือบทั้งหมดเชื่อมโยงกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ตัวอย่างเช่นในอดีตที่เคยเป็นมา “วิกฤติเตกีลา” ในเม็กซิโก ซึ่งตามมาด้วยการล่มสลายในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย บราซิล และรัสเซีย แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจะส่งผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาในด้านการส่งออก แต่อาจส่งผลลบต่อบางธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สูงขึ้น โดยค่ามัธยฐานของหนี้รัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 1 ใน  3 ของ GDP ในสิ้นปี 2564 ทำให้หลายประเทศที่กำลังพัฒนาต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจาก IMF และธนาคารโลก 

          ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้สินค้าโภณภัณฑ์ที่เป็นดอลลาร์มีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลด้านอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ตามด้านอุปทานสินค้าโภณภัณฑ์ที่มีจำกัด เนื่องจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน เมล็ดพืช โลหะ และปุ๋ย ทำให้สินค้าโภณภัณฑ์ราคาสูงขึ้น ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นผลลบต่อแรงกดดันของราคาทองคำในต่างประเทศ

        แต่ในอีกด้านหนึ่งของเงินบาทที่อ่อนค่าลงทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี จึงทำให้ราคาในประเทศปรับตัวลงน้อยกว่าปกติ   จึงช่วยหนุนราคาทองคำในประเทศได้บ้าง


         แนวโน้มราคาทองคำระยะสั้น หากว่าราคาทองคำ spot ยังไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,927-1,940 ดอลลาร์ มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงอีกครั้ง สัปดาห์นี้สหรัฐเปิดเผยการจ้างงานภาคเอกชนทั่วประเทศเดือนเม.ย. ของ ADP ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 400,000 ตำแหน่ง จากเพิ่มขึ้น 455,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.  การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่ง จากที่เพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือนเม.ย. ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% จากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. อัตราการว่างงานเดือนเม.ย. ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.5% จาก 3.6% ในเดือนมี.ค. และที่สำคัญคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 3-4 พ.ค. ที่ใกล้จะถึงนี้


         ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่ 1,870 ดอลลาร์ และ 1,860 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,927 ดอลลาร์ และ 1,940 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 30,500 บาท และ 30,300 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 31,100 บาท และ 31,300 บาท


ข้อมูลจาก: ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

ภาพประกอบ : AFP , ฮั่วเซ่งเฮง






ข่าวแนะนำ