3 เทคนิคการใช้ Stop Loss อย่างง่ายที่ใครก็ทำได้ วิเคราะห์โดย Zipmex
3 เทคนิคการใช้ Stop Loss อย่างง่ายที่ใครก็ทำได้ วิเคราะห์โดย เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist Zipmex Trader
สถานการณ์การเงินการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน (26 เมษายน 2022) ค่อนข้างที่จะน่ากังวลทั้งในมุมของปัจจัยพื้นฐาน ข่าวสาร รวมถึงราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกที่ถูกเทขายลงมาตลอดทางตั้งแต่ต้นปี ทำให้นักลงทุน/นักเก็งกำไร ประสบปัญหาการขาดทุนและยังขาดความมั่นใจในสถานการ์หลังจากนี้ เราจึงอยากจะแชร์ไอเดียเกี่ยวกับเรื่อง Stop Loss ในเบื้องต้นที่อาจจะพอช่วยนักลงทุน/นักเก็งกำไรในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น หรือราคาสินทรัพย์ในพอร์ตเราไม่เป็นได้ตามที่คิด
ใน 3 ท่าของการ Stop Loss ในบทความนี้จะมาในมุมของเทรดเดอร์มากกว่าในมุมของ Investor ซึ่งทั้ง 2 แบบมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันในรายละเอียดรวมไปถึงแนวคิดเบื้องหลังกลยุทธ์อีกด้วย
1. Initial Stop Loss สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง หากเราเข้าซื้อสินทรัพย์นี้ไปแล้ว เมื่อผิดทาง เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด เราจะทำอย่างไร จะซื้อเพิ่ม จะขายออก หากจะขายออกจะขายเมื่อไหร่ ที่ราคาไหน ทำไมถึงต้องขายที่ราคานั้น เพียงแค่ตั้งโจทย์สั้น ๆ ก็มีคำถามตามออกมามากมาย และมีหลายคำตอบที่เราต้องคำนึงถึง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดในการวาง Initial Stop Loss คือการ Fix เป็น % เอาไว้ เช่นนับจากราคาที่เราซื้อ ขาดทุนเท่าไหร่เราถึงจะยอมมอบตัว เช่น ติดลบ 10% 20% 30% เป็นต้น
วิธีการนี้มีข้อดีคือง่ายในการทำความเข้าใจ แต่มีข้อสังเกตหลายข้อคือ % ที่เราจะใช้คือเท่าไหร่ดี ที่จะเหมาะสมกับเรา กับพอร์ตโดยรวมของเรา กับ Mindset ของเรา และที่สำคัญ มันสอดคล้องกับพฤติกรรมราคาปัจจุบันหรือไม่ หากเราซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin และเราตั้ง Stop Loss ที่ 5% จากต้นทุนที่เราเข้าซื้อ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงเราอาจจะต้อง Stop Loss ออกมาและราคา Bitcoin ก็เด้งทำ New High ใหม่ เพราะสินทรัพย์นี้ค่อนข้างสวิงและมีความผันผวนกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น
(ภาพตัวอย่าง Initial Stop โดยใช้ Price Base)
2. Trailing Stop หลังจากที่เราเข้าซื้อไปแล้ว และมีกำไรในพอร์ตเป็นบวก เราคงไม่อยากให้กำไรที่ได้มานั้นกลับกลายเป็นขาดทุน จึงจำเป็นต้องวางกลยุทธ์เอาไว้ล่วงหน้า เพราะในสถานการณ์จริงมีหลายครั้งมาก ๆ ที่ราคาปรับตัวขึ้นแรงในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นราคาก็ปรับตัวลงมาอยู่ที่เดิม หรือปรับตัวลงเป็นแนวโน้มขาลงไปเลย ทำให้เราจำเป็นต้องหากลยุทธ์ที่จะปกป้องกำไรที่ได้มา เช่น อาจจะใช้กราฟเทคนิคมารันกำไร เครื่องมือที่เทรดเดอร์หลายคนใช้ก็พวกเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็น SMA, EMA หรือการใช้ % Drawdown จากจุดสูงสุด เป็นต้น
ซึ่งวิธีการนี้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือที่นำมาใช้ เพราะหากเราหยิบมาใช้ผิดประเภทอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ขายเร็วเกินไป (ขายหมู) และไม่กล้าซื้อกลับ ทำให้เราตกรถพร้อมความเจ็บใจอีกต่างหาก ส่วนข้อดีคือเราสามารถที่จะเกาะแนวโน้มของสินทรัพย์นั้นไปได้จนสุดเทรนด์ ส่วนข้อเสียหรือข้อสังเกตุคือ เราจะไม่มีวันขายได้ที่จุดสูงสุด เพราะวิธีการอย่าง Trailing Stop จะต้องรอให้ราคากลับทิศ หรือปรับตัวลงมาเล็กน้อยก่อนถึงจะมี Sell Signal
(ภาพตัวอย่าง Trailing Stop โดยใช้กราฟเทคนิค)
3. Time Stop เนื่องจากเงินทุนของเรามีจำกัด ในบางครั้งจำเป็นต้องวางกลยุทธ์เอาไว้ล่วงหน้า ถ้าหากว่าสินทรัพย์ที่เราซื้อไปแล้วไม่เคลื่อนไหวเลย เช่น นิ่งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน ระยะเวลาเท่าไหร่ดีที่เรามองว่าควรต้องดึงสภาพคล่องกลับมาเพื่อไปมองหาโอกาสที่น่าสนใจอื่น ๆ วิธีการนี้ก็เหมือนวิธีการอื่นที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ข้อดีคือทำให้เราไม่ติดอยู่กับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งนานเกินไป ในขณะที่สินทรัพย์อื่นมีการเคลื่อนไหว (ทั้งในขาขึ้นและขาลง) แต่ข้อควรระวังคือหากเราเลือก Time Stop ที่สั้นเกินไป เช่น 1 วัน 5 วัน 10 วัน เราอาจจะปล่อยสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตมาก ๆ ในอนาคต (แต่แค่ราคายังไม่ขึ้นในเร็ววันนี้) ซึ่งจำนวนวันนี้จะต้องขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลงทุนของเราด้วยว่าเป็นรูปแบบใด เล่นสั้น เล่นยาว แต่ที่สำคัญคือควรจะต้องให้พื้นที่ที่เหมาะสมในการเคลื่อนไหว (Price Range) และให้ระยะเวลากับสินทรัพย์นั้นในการฟอร์มตัวด้วย
(ภาพตัวอย่างของสินทรัพย์ที่ไม่ทำ New High เป็นเวลานาน)
ตัวอย่างทั้งหมดที่แชร์ในบทความนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงอยากให้ทุกท่านนำไปเป็นไอเดียในการต่อยอด พัฒนา และนำมาปรับใช้ในการลงทุน/เก็งกำไร เพราะเราไม่สามารถกำหนดทิศทางราคาสินทรัพย์ที่เราลงทุนได้ เราทำได้เพียงวางกลยุทธ์ล่วงหน้าและ Take Action ตามแผนการที่เราวางเอาไว้เท่านั้น
ข้อมูลจาก : เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist Zipmex Trader
ภาพประกอบ: AFP ,Zipmex Trader