TNN สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

TNN

คอลัมนิสต์

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก  วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก วิเคราะห์โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

Gold Bullish 

  •  ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ
  • สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงมากขึ้น

Gold Bearish 

  • ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค.
  • การเปิดกว้างการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายลง
  • การกระจายวัคซีนโควิด-19


สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก 

สถานการณ์รัสเซียและยูเครนยังคงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่การสู้รบของกองทัพรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเกินความคาดหมายของรัสเซียที่ตั้งใจไว้จะปิดเกมในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน โดยความตึงเครียดในวิกฤติการณ์ในยูเครนเป็นเหมือนสู้รบไป พร้อมกับเจรจาไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของราคาทองคำเป็นอย่างมากในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไหร่นักจากการเจรจาแล้วทั้งสองรอบ มีเพียงร่วมกันจัดตั้งแนวกันชนมนุษยธรรมเท่านั้น ที่ใช้เป็นเส้นทางอพยพพลเรือน  ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการที่นานาชาติหลายประเทศพร้อมใจกันใช้มาตรการคว่ำบาตรแก่รัสเซีย โดยเฉพาะคว่ำบาตรรัสเซียออกจากระบบ swift โดยการแบนระบบ swift เปรียบเหมือนการตัดรัสเซียออกจากกลุ่มเครือข่ายธนาคารกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก ที่อาจจะส่งผลให้การทำธุรกรรมของรัสเซียมีความยุ่งยากขึ้น และค่าธรรมเนียมแพงขึ้น หรือจนกระทั่งอาจทำให้รัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารของประเทศอื่น ๆ ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ โดยมูลค่าการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียมีมูลค่ากว่า 110.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 52% จากปีก่อนหน้า และรัสเซียยังเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 11% ของการส่งออกทั่วโลก  ทำให้ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ปัญหาราคาเชื้อเพลิงเดิมนั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว โดยราคาน้ำมันดิบได้พุ่งขึ้นกว่า 8% ในระดับสูงสุดตั้งแต่ 22 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นการพุ่งมากที่สุดในวันเดียวตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 ผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลผลักดันด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวขึ้นสูงกว่าเดิม และยิ่งเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงกระทบโดยตรงกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน


ความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และเศรษฐกิจไทย

ด้วยภาวะที่ประเทศไทยได้มีการนำเข้าน้ำมันดิบมาจากต่างประเทศกว่า 90%  โดยประเทศไทยมีการจัดหาน้ำมันดิบเฉลี่ย 929,112 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งแบ่งการจัดหาได้จาก แหล่งตะวันออกกลางกว่า 48% ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง แหล่งตะวันออกไกล 12% ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ กว่า 30% ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และแองโกลา การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงนั้น ก็แน่นอนย่อมส่งผลให้ต้นทุนพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นด้วยเช่นกัน  การเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต  ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้หากสถานการณ์ในยูเครนไม่ยืดเยื้อและจบลงยุติได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ผลกระทบก็จะจำกัด และอาจไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% และ 0.07% ของมูลค่าการค้ารวม แต่อย่างไรหากสถานการณ์ยืดเยื้อบานปลาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าต่าง ๆ ปรับราคาขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หรือภาวะข้าวยากหมากแพง รวมถึงอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากรัสเซียนับเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรกตั้งแต่ไทยกลับมาเปิดประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง ทำให้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวได้ และสุดท้ายแล้วอาจผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน ทั้งนี้ผลกระทบของส่งครามหรือความขัดแย้งที่ส่อบานปลาย อาจทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์มากขึ้น เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นผลบวกของราคาทองคำในประเทศ


ราคาทองคำในสัปดาห์นี้อาจมีความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งตลาดยังคงให้ความสนใจกับประเด็นความกังวลด้านความขัดแย้งในเรื่องยูเครนอย่างใกล้ชิดว่าการเจรจาจะสามารถจบลงได้ดีหรือไม่ หรือความขัดแย้งที่ส่อแววเพิ่มมากขึ้น  โดยเบื้องตันสัปดาห์นี้ราคาทองคำยังได้รับปัจจัยบวกจากประเด็นดังกล่าว และหากการเจรจายังคงยื้อเยื้อและส่อแววความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามให้ระมัดระวังแรงเทขายเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง  สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ซึ่งตลาดคาดว่าจะเพิ่ม 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หรือเพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากเพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้สหรัฐดุลการค้าเดือนม.ค. จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของม.มิชิแกน ส่วนทางด้านยุโรป ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรปและการแถลงของธนาคารกลางยุโรป


กรอบการเคลื่อนไหวทางเทคนิคของทองคำระยะสั้น หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ราคาทองคำจะกลับขึ้นไปเคลื่อนไหวที่บริเวณ 2000 และ 2100 ดอลลาร์ ต่อไป ส่วนแนวรับสำหรับกลับเข้าซื้ออยู่ที่บริเวณ 1920-1940 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 30,000 บาท และ 29,850 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 30,900 บาท และ 31,000 บาท

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก  วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก  วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง


ข้อมูลจาก: ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

ภาพประกอบ : AFP , ฮั่วเซ่งเฮง

ข่าวแนะนำ