BA ทุ่มงบลงทุน 2,300 ล้านบาท ขยายสนามบินดันรายได้
ฺBA ทุ่ม 1,500 ล้านบาท ขยายสนามบินสมุย รับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หลังยอดจองตั๋วล้นถึงไตรมาสแรกปีหน้า และขยายสนามบินตราดด้วยงบ 800 ล้านบาท ดันไทยฮับการท่องเที่ยว
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินสมุยเพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินระหว่างสนามบินสมุยไปยังหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ โดยมีแผนการเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยจากวันละ 50 เที่ยวบิน เพิ่มเป็นเป็น 73 เที่ยวบิน เพื่อผลักดันอ่าวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) แห่งหนึ่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร เพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์เช็คอินอีก 10 เคาน์เตอร์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยจะติดตั้งระบบ CUSS : Common Use Self-Service รวมถึงสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มจาก 1,800 ตร.ม. เป็น 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการสำหรับร้านค้าชั้นนำ สินค้าของฝากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงร้านนวดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
นายพุฒิพงศ์ คาดว่า แผนขยายศักยภาพสนามบินสมุยจะเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี ใช้งบลงทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1- ไตรมาส 2 ปี 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2570 โดยประเมินว่าช่วงนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่ 2 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทมีแผนจะเสริมศักยภาพสนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 3 ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทฯ โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารและขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับเครื่องบินประเภทไอพ่นขนาดเล็ก จากเดิม 1,800 เมตร เพิ่มเป็น 2,100 เมตร ด้วยงบลงทุนราว 800 ล้านบาท
บริษัทยังเดินหน้าเชื่อมโยงสายการบินพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ปัจจุบันมีพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare รวมทั้งสิ้น 30 สายการบิน ล่าสุด ได้แก่ ลุฟท์ฮันซ่า และสวิสอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ เมื่อรวมกับ ออสเตรียนแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นพันธมิตร Codeshare ตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าบริษัทมีสายการบินพันธมิตรที่อยู่ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa Group) ถึง 3 สาย
พร้อมทั้งมีพันธมิตรสายการบินข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Interline มากกว่า 70 สายการบิน โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ คาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 2 ลำ และบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะออกร่างข้อเสนอ (RFP) เพื่อที่จะทำการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทฝูงบินในอนาคตอีกด้วย
สำหรับแนวโน้มท่องเที่ยวเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง คุณพุฒิพงศ์ มองว่า บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจโดยมีปัจจัยจากสถิติการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าของบางกอกแอร์เวย์สที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการเติบโตกว่า ร้อยละ 12 จากปี 2566 ซึ่งมีการจองต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568
โดยเฉพาะเส้นทางสมุย เป็นเส้นทางสำคัญที่ทำรายได้ให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยในครึ่งปีแรกของปี นี้มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมทุกสายการบิน และบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณร้อยละ 70 และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณร้อยละ 60
ทั้งนี้ จากภาพรวมของทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นบวกได้ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีนี้การขนส่งผู้โดยสารสูงขึ้นร้อยละ 11 ขณะที่ปริมาณการบรรทุก (Load Factor) เท่ากับนี้ร้อยละ 83 ดีขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงก่อนโควิด ซึ่งบริษัทมั่นใจสำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานตลอดปีนี้ คือ มีรายได้กลับไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ของรายได้ในปี 2562 คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน Load Factor เฉลี่ยร้อยละ 85 จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท
ข่าวแนะนำ