TNN ส่องมาตรการรัฐ สกัดสินค้าจีนตีตลาดไทย | เศรษฐกิจ insight

TNN

รายการ TNN

ส่องมาตรการรัฐ สกัดสินค้าจีนตีตลาดไทย | เศรษฐกิจ insight

การเข้ามาของแพลตฟอร์มสัญชาติจีนอย่าง “เทมู” ที่ขายสินค้าราคาถูกกว่าตลาด ยังซ้ำเติมภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอีรายย่อยของไทยที่กำลังประสบปัญหาหนักในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีการตื่นตัวเรื่องนี้ขึ้นมาก แต่จะทันรับกับเหตุการณ์นี้มากน้อยแค่ไหน ผลกระทบที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเจอเป็นอย่างไร

ปัจจุบันการทุ่มตลาดของ “สินค้าจีน” กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก และหลายประเทศได้มีการตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นสินค้าจีนเข้ามายังประเทศของตนเกินความจำเป็น ส่วนของไทย จากข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยขาดดุลการค้ากับจีน มูลค่าสูงถึง 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยมีสาเหตุหลัก มาจากการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.12 คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น  อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน เช่น เทมู (TEMU) ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้ 


โดยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการปิดตัวของโรงงานหลายแห่ง สะท้อนจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 86.31 หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่า มีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น  เนื่องจาก SME ไทยต้องเผชิญข้อจำหลายอย่าง ทั้งการขาดเงินทุนหมุนเวียน และการสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งกดดันกำลังซื้อในประเทศหดหายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง  รวมทั้งการทะลักของสินค้าจีนด้อยคุณภาพ และราคาถูก ยังเข้ามาแย่งตลาดภายในประเทศซึ่งเป็นการซ้ำเติมเอสเอ็มอีไทยในประเทศ  


ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข ไม่ใช่แค่สนับสนุนการลงทุน แต่ต้องทำให้ SMEs อยู่รอดได้ในระบบการลงทุนสมัยใหม่ เพราะ SMEs เมื่อปิดตัวแล้วโอกาสฟื้นใหม่ยากกกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และเมื่อดูข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะพบว่า “สินค้าจีน” ที่เข้ามาตีตลาดส่วนใหญ่ มีทั้งกลุ่มที่เป็นของกินและของใช้ใน 2 ชีวิตประจำวัน โดย 5 สินค้าจีนที่เข้าไทยมากที่สุด คือ 1.เครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 43.3 ของมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดจากจีน 


2. ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง ร้อยละ 10.0  3.เสื้อผ้าและรองเท้า ร้อยละ 9.3 4.เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่งร้อยละ 9.1 และ5. ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร ร้อยละ 9  โดยจากสัดส่วนตัวเลขเหล่านี้ ถือเป็นอุปสรรคและเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในหมวดแฟชั่น เครื่องแต่งกายและเฟอร์นิเจอร์ ที่ทุกวันนี้มีอัตราการผลิตในโรงงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 50 ของกำลังการผลิต ยิ่งซ้ำเติมในด้านต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ และในระยะยาว ธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้


อย่างไรก็ตามภาครัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหาสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาถล่มตลาดในไทย  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นต้น ได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าจีนไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกที่ทะลักไทยจำนวนมาก


โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จากการหารือเบื้องต้น จะมีการเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสินค้านำเข้าต้องผ่านการรับรอง ทั้งความปลอดภัยของอาหารและสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมในสินค้าที่ขายทุกช่องทางซึ่งจากการสุ่มตรวจเบื้องต้น พบว่า สินค้านำเข้ายังมีปัญหาคนขายที่ไม่ใช่คนไทย ไม่มีวีซ่า และไม่มีใบอนุญาตแรงงาน รวมถึงไม่มีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือนิติบุคคล โดยกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าในพื้นที่ หากพบผิดกฎหมายจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด


ขณะที่สินค้าที่จำหน่ายผ่านออนไลน์นั้น ได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร จัดส่งสินค้า 10 อันดับแรก ที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อทางออนไลน์ เพื่อดูว่าสินค้านั้น เป็นไปตามาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นสินค้าทดแทน หรือเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้า รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ที่ให้บริการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในไทยนั้น กฎหมายไทย จะสามารถเข้าไปดำเนินการในส่วนใดได้บ้าง เช่น กำหนดให้ต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในไทย หรือต้องจดแจ้งใดๆ หรือไม่  


โดยเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งว่า ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 มาตรา 18 (2) และ (3) กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย แต่มีลูกค้าในไทย หรือมีความเสี่ยงต่อการเงิน การพาณิชย์ หรืออาจกระทบ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณะชน ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ด้วย  และกำลังดูว่าจะมีมาตรการอะไรมาดำเนินการเพิ่มเติมได้อีก นอกเหนือจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออนไลน์ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรก ที่คลังได้จัดเก็บแล้ว


ที่มา TNN

ข่าวแนะนำ