ราคา EV อาจลดร้อยละ 50 เมื่อใช้งานไป 1 ปี l การตลาดเงินล้าน
ราคารถยนต์ไฟฟ้า-ไฮบริด อาจลดลงเกือบครึ่งหลังใช้งานไป 1 ปี
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC วิเคราะห์แนวโน้มและเปรียบเทียบต้นทุนการถือครองยานยนต์ประเภทต่างในบทความ "The drive to decide : ไขข้อสงสัย…จะซื้อรถใหม่ คันไหนยิ่งขับ ยิ่งคุ้ม?"
เริ่มจากพฤติกรรมการซื้อรถของคนไทยมีพัฒนาการที่ต่างไปจากเดิมใน 3 ด้านสำคัญ คือ
1) รอบการเปลี่ยนรถของคนไทยนานขึ้น ทำให้การตัดสินใจซื้อรถใหม่มักมองหาความคุ้มค่าในระยะยาว คนไทยมีแนวโน้มซื้อรถใหม่ช้าลง สะท้อนได้จากอายุการใช้งานรถยนต์นั่งเฉลี่ย ปัจจุบัน อยู่ที่เกือบ 10 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมจะเปลี่ยนทุก ๆ 7 ปี พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้วัฏจักรยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มหนืดขึ้น และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อรถใหม่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคหันมามองหาตัวเลือกการขับขี่ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว อาทิ ต้นทุนด้านพลังงาน ราคาขายต่อ เบี้ยประกัน รวมถึงค่าซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ดี ธุรกิจอู่ซ่อมและอะไหล่ยนต์จะได้รับอานิสงส์โดยตรง แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์การขับขี่ใหม่ ๆ อาทิ ความพร้อมด้านอุปกรณ์ ชิ้นส่วน ฝีมือและทักษะช่างสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
2) ข้อมูลค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานรถยนต์ กลายมาเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อใกล้เคียงกับแรงจูงใจด้านราคาขาย
จากผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ชี้ว่า แผนการซื้อพาหนะส่วนตัวนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา เริ่มให้ความสำคัญกับข้อมูลการประหยัดพลังงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการจัดโปรโมชันด้านราค โดยผู้บริโภคบางส่วนเล็งเห็นว่า กลยุทธ์การลดราคาสามารถสร้างแรงดึงดูดอันฉาบฉวยในระยะสั้น ขณะที่ข้อมูล ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานตอบโจทย์ความคุ้มค่าในระยะยาวได้ดีกว่า
ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวแตกต่างกับเทรนด์ในอดีต เพราะปัจจัยที่เคยมีอิทธิพลสูงสุด คือ ราคาขายและการจัดโปรโมชัน รองลงมา คือ การเปรียบเทียบสมรรถนะและเทคโนโลยีการขับขี่
และ 3) รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV และ Hybrid กลายเป็นตัวเลือกหลักของตลาดรถยนต์นั่งนับตั้งปี 2566 เป็นต้นมา และคาดว่าจะครองส่วนแบ่งยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 ที่คาดว่า EV Market share จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 74 ของกลุ่มรถยนต์นั่งหรือราวร้อยละ 30 ของตลาดรถยนต์ในประเทศทั้งหมด
ขณะที่ทิศทางการปรับลดราคาขายรถยนต์ SCB EIC ประเมินว่า จะเกิดขึ้นต่อเนื่องและขยายวงกว้าง โดย Segment ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงสูงสุด คือ
รถเก๋งขนาดเล็ก หรือ Eco car
รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศจีนที่เปิดตัวไปแล้วในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มรถยนต์ราคาระหว่าง 5 แสน 1 ล้านบาท จะมีตัวเลือกในตลาดเพิ่มขึ้นมาก
ผลพวงจากการจัดโปรโมชันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถใหม่ออกไป เพื่อรอให้ราคาปรับลดลงอีกในอนาคต และการต่อสู้ท่ามกลางสมรภูมิสงครามราคามักช่วยแย่งชิงยอดขายให้เติบโตได้เพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาว กลยุทธ์การแข่งขันนี้กลับนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของธุรกิจ
SCB EIC ยังคาดการณ์มูลค่าของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV PHEV และ BEV มีแนวโน้มลดลงเกือบร้อยละ 50 จากราคาขายเมื่อใช้งานไปเพียง 1 ปี หลังจากนั้นจะเสื่อมค่าเฉลี่ยปีละเกือบร้อยละ 5
ขณะที่รถสันดาป หรือ ICE ทั้งกระบะและรถยนต์นั่ง ยังคงสามารถรักษามูลค่าในปีแรกไว้ได้ถึงร้อยละ 67 ของราคารถใหม่ และมีมูลค่าคงเหลือราว 1 ใน 4 ณ ปีที่ 10 ของอายุการใช้งาน
ปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ BEV เสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็วเป็นผลจาก
1) ราคาขายที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) การซ่อมแซมมีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน เพราะอะไหล่ยนต์ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และ 3) ความกังวลของภาคธุรกิจต่อคุณภาพแบตเตอรี่และอุปสงค์ในตลาดรถมือ 2
ทั้งนี้หากนำข้อมูลดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศจีน จะพบว่า รถ BEV ของจีน มีอัตราการเสื่อมราคาที่เร่งตัวมากกว่าไทย โดยมูลค่าคงเหลือจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี นับตั้งแต่การใช้งานปีที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ดุเดือดมากกว่า ทั้งในแง่ของจำนวนผู้เล่นและการใช้สงครามราคา
ดังนั้น หากการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยังคงทวีความรุนแรงและเน้นใช้กลยุทธ์การลดราคาเป็นหลัก มูลค่ารถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่ม BEV คงจะเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากประเทศจีนในระยะอันใกล้นี้
ข่าวแนะนำ