TNN อีคอมเมิร์ซจีนแข่งส่งไวภายใน 1 ชั่วโมงไทยต้องปรับตัวรับเทรนด์ผู้บริโภค

TNN

รายการ TNN

อีคอมเมิร์ซจีนแข่งส่งไวภายใน 1 ชั่วโมงไทยต้องปรับตัวรับเทรนด์ผู้บริโภค

ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนเติบโตแรง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่แข่งปรับกลยุทธ์เน้นส่งไวส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมงจนกลายเป็นช่องทางหลักการบริโภคของชาวจีนในอนาคต

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันกับเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบาย กะทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้ทีมพาณิชย์ทำการศึกษาและสำรวจตลาดอยู่เสมอเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยหรือส่วนที่เกี่ยวข้องเท่าทันการค้ายุคใหม่

    

ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานให้ทราบว่า ขณะนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน อย่าง JD.com, Taobao และ Meituan ต่างได้ปรับกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจใหม่ เน้นการจัดส่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคในทุกช่วงเวลาของชาวจีน จึงมี โหมดใหม่เรียกว่าโหมดการจัดส่งภายใน 1 ชั่วโมง(Instand Delivery) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก


    

อย่างไรก็ตามจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยชาวจีนมีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น และมีความต้องการระยะเวลาการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วมากขึ้น โดยผู้บริโภคประมาณ 75% หวังว่าจะได้รับสินค้าในวันเดียวกันหลังจากทำการสั่งซื้อ แทนที่จะต้องรอถึง 3-5 วันในการจัดส่งตามข้อกำหนดของอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม การค้าปลีกแบบจัดส่งทันที (Instant Retail) ซึ่งเป็นรูปแบบการขายปลีกสินค้ารูปแบบใหม่ จึงตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนได้เป็นอย่างดี


ตามรายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมค้าปลีกแบบจัดส่งทันที (Instant Retail) 2023  ยังระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าในเมืองชั้นหนึ่ง สัดส่วนของผู้บริโภคที่ใช้บริการสั่งซื้อออนไลน์และส่งแบบออฟไลน์ภายใน 30 นาที (Instant Delivery) เป็นช่องทางการช็อปปิงหลักสูงถึง 64% คาดว่าหมดธุรกิจนี้จะกลายเป็นช่องทางหลักในการบริโภคของชาวจีนในอนาคต



โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท อาลีบาบา ได้ประกาศเปิดตัวบริการ Xiaoshida Instant Delivery บนแอป Taobao มีทั้งร้านค้ามณฑลอื่นๆ และร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพิกัดใกล้เคียงของผู้ซื้อ เมื่อการสั่งซื้อสำเร็จลูกค้าจะสามารถได้รับสินค้าที่สั่งซื้อได้ภายในหนึ่งชั่วโมง และมี(Ele.me) ที่เป็นแอพสั่งอาหารเช่นเดียวกับ Meituan ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดส่งภายในหนึ่งชั่วโมง ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์กว่า 10 ล้านรายการจาก ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อาทิ Tmall Supermarket, FoodTalks Hema (Fresh Hippo) ซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ร้านดอกไม้ และร้านขายผลไม้มากกว่า 300,000 แห่ง ภายในท้องถิ่นของผู้ใช้


ในขณะเดียวกัน บริษัทอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ยักษ์ใหญ่ในจีน อย่างบริษัท JD.com ก็เปิดให้บริการโหมด JD Instant Delivery จัดส่งได้เร็วสูงสุดภายในเวลาเพียง 9 นาที ครอบคลุมซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตลาดอาหารสด/ผัก รวมถึงผลิตภัณฑ์ดิจิทัลบนมือถือ ยา เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อาหารสด ดอกไม้ และหมวดอื่นๆ ผู้ใช้งานสามารถกำหนดและเลือกระยะเวลาได้ในหน้าชำระเงิน โดยระยะเวลาจัดส่งที่เร็วที่สุดสำหรับการสั่งซื้อหลายรายการภายในระยะ 2-5 กิโลเมตร จะแสดงผลอย่างเร็วที่สุด 17 นาที และช้าที่สุด 40 นาที


นอกจากนี้ แพลตฟอร์มน้องใหม่มาแรงอย่าง Douyin (TikTok ) ของจีน ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิด Douyin E-commerce จนได้รับความนิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมาก ล่าสุดได้เปิดให้บริการโหมด Xiaoshida Instant Delivery โดยได้มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโหมดบริการดังกล่าว อาทิ Xiaomi Home, Pupu Supermarket  และ Jingdong Qixian  รวมถึงผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่น อาทิ IKEA Flowers และ ร้าน Huaxianzi Flower Shop ซึ่งเป็นร้านขายดอกไม้ระดับท้องถิ่น ในโหมด ‘จัดส่งภายในหนึ่งชั่วโมง’ ของ Douyin มีสินค้าที่ครอบคลุมถึงผลไม้ ของชำ ดอกไม้ ของขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย



ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดที่รุนแรงของจีน และปรับตัวให้ทันกับการค้ายุคใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในไทย ควรศึกษากลยุทธ์การตลาดในรูปแบบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ให้สามารถนำไปใช้กับการสั่งซื้อและการส่งสินค้าภายในประเทศ กระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการบริโภคกับร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กในพื้นที่ทั้ง SME และ MSME ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาทั้งด้านการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตและการขนส่ง สร้างเงินในท้องถิ่น


ขณะที่อีคอมเมิร์ซจีนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นแรงผลักดันการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ โดยยอดค้าปลีกออนไลน์ในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวขึ้น 9.8% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 7.1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 9.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมียอดค้าปลีกสินค้าอยู่ที่ 5.96 ล้านล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้น 8.8%


กระทรวงพาณิย์จีน (MOC) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล การใช้บริการ และโครงการเก่าแลกใหม่ (trade-in) เป็น 3 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการบริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในแง่ของผลิตภัณฑ์ดิจิทัลนั้น ยอดขายอุปกรณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเองของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เติบโตขึ้น 136.6% และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เติบโต 31.5%  สำหรับการใช้บริการ ผลสำรวจชี้ว่า บริการท่องเที่ยวออนไลน์ขยายตัวขึ้น 59.9% และการจัดเลี้ยง ขยายตัว 21.7% 

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ของจีนร่วมกันนำเสนอบริการเก่าแลกใหม่แก่ผลิตภัณฑ์กว่า 400,000 รายการ และบริการรีไซเคิลที่ครอบคลุมสินค้ากว่า 300 ชนิด โดยบริการเก่าแลกใหม่ส่งผลให้ยอดขายตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ และทีวี บนแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์รายใหญ่ ๆ เพิ่มขึ้น 82.1%, 70.4%, 63.9% และ 54.3% ตามลำดับ


ในขณะที่อีคอมเมิร์ซผลักดันการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศของภาคส่วนนี้ก็ขยายออกไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จีนได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซกับเซอร์เบีย บาห์เรน และทาจิกิสถาน ส่งผลให้จำนวนประเทศพันธมิตรอีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 33 ประเทศ


ข่าวแนะนำ