TNN หนี้บัตรเครดิตพุ่ง ธปท.คงอัตราจ่ายขั้นต่ำ

TNN

รายการ TNN

หนี้บัตรเครดิตพุ่ง ธปท.คงอัตราจ่ายขั้นต่ำ

เรื่องหนี้ของคนไทยเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ล่าสุดแบงก์ชาติ มีแนวทางสำหรับการจ่ายชำระหนี้บัตรเครดิตออกมา เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่สามารถชำระได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้

ก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องทั้งจากรัฐบาลและประชาชน อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตให้เหลือร้อยละ 5 จากขณะนี้เก็บอยู่ร้อยละ 8

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า การจ่ายขั้นร้อยละ 8 กระตุ้นทำให้เกิดหนี้เสีย 1.1 ล้านใบ และกำลังเป็นหนี้เสียอีก 2 แสนใบ จากบัตรเครดิตทั้งหมดรวม  25-26 ล้านใบ 

ล่าสุดในการประขุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 มีแนวทางเกี่ยวกับการจ่ายชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตออกมา “โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568” เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

การคงอัตราจ่ายขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ  8 เนื่องขากธปท.ได้พิจารณาจากความสามารถในการผ่อนชำระจริงของผู้ถือบัตรเครดิตโดยรวมซึ่งพบว่าผู้ใช้บัตรเครดิตกว่าร้อยละ  80 สามารถผ่อนชำระได้เกินร้อยละ 10 ของวงเงินสินเชื่อ 

อีกร้อยละ 13 สามารถผ่อนขั้นต่ำได้ตั้งแต่ ร้อยละ 8-10 

มีประมาณร้อยละ 7 ผ่อนได้ต่ำกว่าร้อยละ 8

-สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น และมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

- สำหรับคนที่เป็นลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียโดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยจะไม่ปิดบัตรเครดิตเดิม หากลูกหนี้ยังมีวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือก็ยังใช้บัตรต่อไปได้ ด้วยการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ลูกหนี้มีเงินหมุนสำหรับใช้จ่าย และยังลดดอกเบี้ยลงได้ประมาณ 5,000 บาทตลอดระยะการผ่อนส่ง ส่วนลูกหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนขั้นต่ำได้ถึงร้อยละ 5 สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยต่ำได้เช่นกันซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา โดยเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ประกอบด้วย

-การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย โดยธปท. ส่งเสริมให้สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการรวมหนี้บ้านและสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ เพื่อให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด โดยแบงก์ที่รวมหนี้ต้องดูแลการผ่อนชำระให้น้อยลงกว่าเดิม โดยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปรับลดค่างวดที่ต้องชำระต่ำ โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568

- สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม โดย ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี  ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ

รวมถึงกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรม ลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น สื่อสารข้อดีข้อเสียของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงตารางข้อมูลระยะเวลาการผ่อนชำระพร้อมภาระดอกเบี้ยโดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ หรือ Responsible Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

ถ้าไปดูจาก บทวิเคราะห์ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH Bank)  พบว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยจำนวนบัญชีบัตรเครดิตล่าสุด ณ เดือน มี.ค. 2567 พบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนร้อยละ 37 หรือเกือบ 10 ล้านบัญชี ส่วนกลุ่ม Non-Bank มีจำนวนกว่า 16   ล้านบัญชี หรือมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 63 

จากข้อมูลจะพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่มธนาคารพาณิขย์จะสูง กว่ากลุ่ม Non-bank ราว 2 เท่า เช่น ในไตรช่วงไตรมาสแรก ของปี 2567 ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ที่กว่า 4 แสนล้านบาท ในขณะที่ ปริมาณการใช้จ่ายของกลุ่ม Non-bank อยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท(สองแสนห้าหมื่นล้านบาท) 

มีประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า “ยอดหนี้เสีย หรือ หนี้ NPL ลูกค้าบัตรเครดิต ของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มสูงขึ้น ภายหลังจากการปรับยอดอัตรา ารชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ  5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 ของยอดเงินตามใบแจ้งยอดบัญชี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา”

พบว่าช่วงไตรมาสแรกปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) “ยอด NPL กลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้ ร้อยละ 42.34 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566” 

ถ้าไปดูยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวม ”มีทั้งสิ้น 314 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ทั้งการใช้บัตรผ่านเครื่องรูดบัตร และการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตออนไลน์” โดย Visa เป็นเครือข่ายที่นิยมใช้มากที่สุด รองลงมา คือ Mastercard และ American Express ตามลำดับ

ส่วน “ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยผ่านบัตรเครดิตต่อบัญชีในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตและกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งแตะระดับประมาณ 80,000 บาทต่อบัญชีต่อปี" แรงหนุนสำคัญมาจากการที่ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด และความนิยมใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ การซื้อของออนไลน์ ทำให้การใช้จ่ายบัตรเครดิตเร่งตัวขึ้น

 

ด้าน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยถึงภาพรวมหนี้เสียในครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น “ถ้าดูตัวเลขรายงานล่าสุด 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) หนี้เสียอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท(หนึ่งล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1

 หนี้เสียสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 218,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ19.4

และหนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 67,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.6

นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่เริ่มค้างชำระ 1-3 เดือน อยู่ประมาณ 680,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาจะทำให้หนี้เสียลดลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขอให้ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายใหม่เพื่อสกัดหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ข่าวแนะนำ