ภาคธุรกิจแบกหนี้อ่วม เอสเอ็มอีหันกู้นอกระบบ
เอสเอ็มอีไทยยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ผลสำรวจชี้ไตรมาส 2 เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และหันไปกู้นอกระบบมากขึ้นด้วย
พาไปดูหนี้สินของภาคธุรกิจกันบ้าง พบว่ากลุ่มเอสเอ็มอีมีการกู้เงินเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีภาระหนี้สินมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย โดยไตรมาส 2/67 อยู่ที่ร้อยละ 64.3 เพิ่มขึ้นจำไตรมาส 1/67 ที่อยู่ระดับร้อยละ 63.9” โดยภาระหนี้สินของเอสเอ็มอีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและธุรกิจการเกษตร
สำหรับวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงินของ “SME ร้อยละ 90.9 ระบุว่ากู้เพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ แต่มีแนวโน้มกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้สินเดิมมากถึงร้อยละ 5.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า” ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างวงจรกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่าที่อาจต้องเผชิญภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น อีกทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มในระบบ
ถ้าไปดูถึงแหล่งเงินกู้จะพบว่า SME ที่มีภาระหนี้สิน “มีสัดส่วนการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 45.1 โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยที่มีสัดส่วนการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนนอกระบบมากถึงร้อยละ 51” ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้อง
นอกจากนี้ยังพบว่า “SME กว่าร้อยละ 21.3 มีสัดส่วนการเป็นหนี้จากแหล่งเงินทุนทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า” รวมถึงสัดส่วนการเป็นหนี้จากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงยังคงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมและธุรกิจรายย่อย
ที่สำคัญพบว่า “SME ที่มีการกู้ยืมเงินร้อยละ 24.7 มีแนวโน้มที่การขอยื่นกู้ไม่ผ่านเพิ่มมากขึ้น” เพราะกำลังเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้ทั้งการชำระล่าช้าหรือชำระได้ไม่เต็มจำนวนส่งผลต่อประวัติเครดิตของ SME ทำให้ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล สาขาขนส่งมวลชน (ไม่ประจำทาง) และสาขาที่เกี่ยวข้องกับบริการท่องเที่ยว มีสาเหตุจากธุรกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวตามฤดูกาล อีกทั้งการประเมินปล่อยสินเชื่อไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ รวมถึงระยะเวลาสัญญาสินเชื่อที่ได้รับสั้นเกินไป จึงส่งผลต่อความกังวลต่อการชำระเงินงวด
สำหรับ SME ที่ไม่มีภาระหนี้สิน มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างชัดเจนเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในกิจการและปรับปรุงสถานประกอบการ แต่อุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนคือคุณสมบัติที่ไม่ผ่านเงื่อนไข
สสว.มีข้อเสนอว่า หน่วยงานภาครัฐและที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อช่วยให้ SME มีตลาดเพิ่มขึ้น สร้างรายได้จนสามารถนำไปชำระหนี้ได้ ควรเข้าให้ความช่วยเหลือในการช่วยผ่อนคลายภาระในการชำระหนี้ ช่วยเหลือในการแก้ไขหนี้นอกระบบ และต้องการให้ภาครัฐออกสินเชื่อที่มีรูปแบบระยะเวลาสัญญายาวนานเพื่อเอื้อต่อความสามารถในการชำระเงินคืน รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในระยะยาว
ด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 24 เดือนนับจากเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
สอดคล้องกับสำรวจความเห็น FTI CEO Poll ของสอท.ครั้งที่ 40 ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยครึ่งปีหลัง” ที่ได้จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 143 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด
ผู้บริหารสอท.มองทิศทางธุรกิจและยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน “พบว่า มีระดับทรงตัวร้อยละ 30.8 โดยร้อยละ 39.8 มองว่า ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก”
ปัจจัยสนับสนุนที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2567
ร้อยละ 56 มองว่า คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567
ร้อยละ 41 ระบุว่า เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ร้อยละ 39 ระบุว่า เป็นเรื่องของการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567
ส่วนร้อยละ 22 มองว่า เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
อันดับ 1 : การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งผู้บริหารสอท.ร้อยละ 54.5 กังวลเรื่องนี้มากสุด
อันดับ 2 : ต้นทุนการผลิตที่ผันผวนอยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง
ร้อยละ 51
อันดับ 3 : สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ และตลาดเป้าหมายของไทย ร้อยละ 38.5
อันดับ 4 : กำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนและ NPL ที่อยู่ในระดับสูงร้อยละ 35.7
มาตรการที่ผู้บริหารสอท. มองว่า ภาครัฐนำมาช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
อันดับ 1 : ส่งเสริมกลไกการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะ (Pay by Skill) แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ผู้บริหารสอท.ร้อยละ 55.9 อยากให้ดำเนินการเรื่องนี้มากสุด
อันดับ 2 : ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือ Made in Thailand ในภาคเอกชนผ่านมาตรการทางภาษี ร้อยละ 50.3
อันดับ 3 : แก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย ร้อยละ 47.6
อันดับ 4 : มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 41.
สำหรับคำถามที่ว่า ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างไร
อันดับ 1 : มองว่าควรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 67.1
อันดับ 2 : นำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN Manufacturing สัดส่วนร้อยละ 47.6
อันดับ 3 : สร้างเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อร่วมกันแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ร้อยละ 47.6
อันดับ 4 : ขยายตลาดใหม่หรือทำตลาดในหลายประเทศเพื่อลดความเสี่ยง จากการพึ่งพาตลาดเดียวร้อยละ 45.5
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มองว่าภาครัฐควรเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในเรื่องใด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวในหลายเรื่องทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
การพัฒนาระบบการศึกษา และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill & Reskill & Newskill ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบมุ่งเป้าในภาคการผลิต สนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่ความยั่งยืน
ข่าวแนะนำ