จัดพอร์ตตั้งรับความผันผวน แบ่งลุยหุ้นเทคอนาคตดี
สถานการณ์แบล็กมันเดย์ (Black Monday) วานนี้ (5 ส.ค.) โดยตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับลงแรง สถานการณ์เช่นนี้ต้องปรับพอร์ตการลงทุนตั้งรับอย่างไร
หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง ซึ่งดัชนี Nasdaq และ S&P500 ดิ่งลงอย่างน้อยร้อยละ 3 ขณะที่ดัชนีนิกเคอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดร่วงลงร้อยละ 12.40 นับว่าร่วงหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ภาวะเช่นนี้ต้องปรับการลงทุนอย่างไรนั้น นายประภัศร์พงษ์ นันทกิจพัฒนา ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด มองว่า จากแบล็กมันเดย์ปรับลดลง เป็นผลมาจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย
ภาพนี้น่าจะเห็นทิศทางดอกเบี้ยที่น่าจะปรับลดลง หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติเอกฉันท์ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และมีการส่งสัญญาณการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.ปีนี้ หลังเฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับสู่เป้าหมายได้ทีร้อยละ 2 ซึ่งจิตตะเวลธ์มองว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้
ส่วนมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาแย่ลง อาทิ รายงานตัวเลขว่างงานพุ่งขึ้นร้อยละ 4.30 สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง เป็นต้น ทำให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่
และหากไปดูใส้ในการ เลย์ออฟ หรือ การเลิกจ้างงานชั่วคราว ส่วนหนึ่งเกิดจากภัยพิบัติพายุเฮอริเคน เพราะฉะนั้น หากเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอาจจไม่ถึงขั้นเกิดภาวะถดถอยก็ได้ ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าการจ้างงานของสหรัฐในเดือนต่อไปจะเป็นอย่างไร
ส่วนในญี่ปุ่นที่ตลาดปรับลดลงแรง เป็นผลจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นเป็นอีกสาเหตุของเหตุการณ์แบล็กมันเดย์และแบล็กฟายเดย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะการดำเนินการนโยบายการเงินที่สวนทางกัน คือ ธนาคารกลางญี่ป่น (BOJ ) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เฟดมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในอดีตเมื่อตอนที่ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะมีการแครี่เทรด หรือ การกู้เงินเยนที่มีดอกเบี้ยที่ต่ำในญี่ปุ่นไปลงทุนในที่ที่ได้ดอกเบี้ยสูง เช่น ตราสารหนี้ในสหรัฐ รวมทั้งหุ้นสหรัฐ เป็นต้น
ซึ่งหุ้นสหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเฟอร์ฟอร์มดีมาก ทำให้มีการขายทำกำไรออกมา บวกกับมีการถูกบังคับขาย (Forced Sell) จากการทำแครี่เทรด ทำให้เกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นสหรัฐและหุ้นญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นโลก
อย่างไรก็ดี เม็ดเงินที่ขายออกจากตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นอื่นๆ อาจจะเลือกเข้าไปถือลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐก่อน ดังนั้น คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ครึ่งหลังปีนี้ จิตตะ เวลธ์ มองว่านอกจากนโยบายการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว การเลือกตั้งสหรัฐก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุน เพราะหลังพรรคเดโมแครตเปลี่ยนตัวแทน จาก "โจ ไบเดน" มาเป็น "คามาลา แฮร์ริส" ก็ทำให้การเลือกตั้งมีความไม่แน่นอนขึ้นแล้วจากเดิมที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" มีคะแนนนำ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องติดตามว่าจะมีการขยายวงความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ด้วย ดังนั้น การลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ควรจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite โดย Core ในสัดส่วนราว ร้อยละ 60-80 เน้นลงทุนทั้งหุ้นและพันธบัตร เพื่อให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และพอร์ต Satellite น่าจะอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 20-40 ที่ควรจะทยอยลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวลงแรง ที่เราอาจจะเข้าไปซื้อเพิ่มเติมได้ หากผลการดำเนินยังออกมาในทิสทางที่ดีและมีการเติบโต
ข่าวแนะนำ