TNN นักธุรกิจไทย-จีนกังวลเศรษฐกิจสงครามการค้า

TNN

รายการ TNN

นักธุรกิจไทย-จีนกังวลเศรษฐกิจสงครามการค้า

นักธุรกิจไทย-จีน ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 มีความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้ากดดันเศรษฐกิจไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังน่าเป้นห่วงนอกจากความกังวลของภาคเอกชนผู้ประกอบการไทยแล้วยังรวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติ โดยล่าสุดการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจรุ่นใหม่โดยหอการค้าไทย-จีน โดยเป็นการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสสามปี 2567  มีผู้ให้ข้อมูลการสำรวจทั้งกลุ่มประธาน คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และกรรมการหอการค้าไทยจีน   ประธาน และกรรมการสมาชิกสมาคมต่าง ๆ ของสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจ รุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน รวมจำนวนทั้งหมด 431 คน  ซึ่งการสำรวจครั้งนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและจีน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และความพร้อมของเศรษฐกิจไทยที่จะรองรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มหอการค้าไทยจีน กลุ่มสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามทางการค้า เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการทหาร และปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก


ทั้งนี้ในภาพรวมพบมากถึงร้อยละ 75 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจมีความกังวลที่สุดจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และทำให้ผู้ประกอบการในจีนมีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก ทางออกหนึ่งคือ การส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกในราคาที่ถูกกว่าปกติ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าครัวเรือน จากที่ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 35.1 และ 27.6 มีความกังวลมาก และมีความกังวลบ้างจากการที่สินค้าจีนจะเข้ามาตีตลาดไทย


ในขณะที่ปัญหาการกีดกันทางการค้าและสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ผู้ให้ข้อมูลจำนวนร้อยละ 52.1 คาดการณ์ว่าธุรกิจของจีนจะมาค้าขายและย้ายฐานการผลิตกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมาก ขณะที่ร้อยละ 28.1 ลงความเห็นว่า ธุรกิจของจีนจะมาค้าขายและย้ายฐานการผลิตกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากที่สุด ส่วนการสอบถามความเห็นถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ พบว่าร้อยละ 33.9 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจ มีความเห็นว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ควรลดการลงทุนในทุกๆตลาด ขณะที่ ร้อยละ  33.4 มีความเห็นว่าอาเซียนน่าลงทุนมากที่สุด เมื่อเทียบกับจีนและสหรัฐอเมริกา  ดังนั้นบทบาทของจีนในอาเซียนน่าจะมีมากขึ้น และอาเซียนยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าลงทุนอยู่



จากข้อคิดเห็นที่ว่าจีนให้ความสนใจลงทุนในอาเซียนนั้น และหากจีนจะขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทยแล้วนั้น ไทยต้องมีความพร้อมทางด้านใด ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจทั้งสามกลุ่มมีความเห็นตรงกัน ในความพร้อม สอง ประเด็น คือ 1.สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ และ 2.กฎหมายที่อำนวยความสะดวกและโปร่งใส มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีอัตราการคอร์รับชันต่ำ และมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมาวางฐานธุรกิจ และการลงทุนในประเทศไทย  ส่วนคำตอบที่เป็นลำดับรองลงมาคือ 3.ไทยต้องรักษาบทบาทความเป็นกลางเพื่อความสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา และ 4.การมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้าและน้ำ และมีแรงงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ



ในส่วนของเศรษฐกิจไทยช่วงห้าเดือนแรกของปี 2567 ทางหอการค้าไทย-จีนมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากราคาของพลังงาน อาหารสดและสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ค่าเดินทางและค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 47.9 ของผู้ให้ข้อมูลการสำรวจ คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจนถึงสิ้นปีจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ร้อยละ 44.1 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากปัญหาของเงินเฟ้อแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2567 พบว่ามีกิจการที่ปิดตัวลงไปแล้วเกือบ 2,000 แห่ง และมีผลกระทบต่อจำนวนแรงงานมากกว่า 40,000 ตำแหน่ง โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง กล่าวคือ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม การพิมพ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า เกษตรขั้นพื้นฐาน และยางพารา ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจมีความเห็นสอดคล้องกันว่ามีสองกลุ่มยังน่าสนใจคือ 1.อุตสาหกรรมภาคบริการ ที่ประกอบด้วย การท่องเที่ยว โรงแรม และอาหารและเครื่องดื่ม และ 2.อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป ยังที่สามารถเติบโตต่อไปได้ดีในปี 2567



ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยที่ได้มีการจัดเรียงลำดับความสำคัญและเห็นว่า มาตรการกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นถูกเลือกมาเป็นอันดับแรกสุด แต่ยังมีอีกสี่มาตรการที่ให้ความสำคัญในระดับรองลงมา โดยทั้งสี่มาตรการที่มีน้ำหนักความสำคัญใกล้เคียงกัน คือ 1.การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ทันสมัย และหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออก 2.เร่งลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และสนับสนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง 3.เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ และ 4.เร่งฟื้นฟูภาคการเกษตรพร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม



สำหรับการค้าระหว่างประเทศจีนและไทย ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 นี้ ยังขยายตัวร้อยละ 2.6 มีมูลค่า 65,032 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยนำเข้าจากจีน มูลค่า 41,423 ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 9.2  ส่วนการส่งออกของไทยไปจีน มีมูลค่า 23,608 ล้านเหรียญสหรัฐ  หดตัวร้อยละ 7.2   โดยประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสามของจีนในอาเซียน  รองจากเวียดนาม อันดับ 1 และมาเลเซีย อันดับ 2

ข่าวแนะนำ