นครปฐมแชมป์ราคาที่ดินพุ่ง ห้าง-อสังหาฯ ขยายลงทุน
ราคาที่ดินของกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในจังหวัดนครปฐม แพงแค่ไหนไปติดตามกัน
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงาน ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 ว่า “มีค่าดัชนีเท่ากับ 398.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนายังคงมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางที่ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 (ปี 2558 – 2562) ที่มีอัตรา เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)”
การที่ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาจมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้าในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยลบเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อที่อาศัย(LTV) ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของ GDP ภาวะดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อของผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
ปัจจัยลบข้างต้นส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อสะสมลดลง เพราะผู้ประกอบการยังกังวลต้นทุนการถือครองที่ดินจากการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในปี 2567 รัฐไม่มีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วนได้ขยายตลาดออกไปยังจังหวัดหลักในภูมิภาค จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุปสงค์ของที่ดินในกรุงเทพฯ - ปริมณฑลโดยรวมชะลอตัวลง
ในไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า โซนที่มีการปรับเพิ่มของราคาที่ดินสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินโซนนครปฐม มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 82.1
อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพชั้นใน ประกอบด้วยเขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก ที่มีอัตราการ เปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 17.8
อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนสมุทรสาคร ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 13.4
อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนฝั่งธน ตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด- บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 13.3
อันดับ 5 ได้แก่ เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินสูงขึ้นร้อยละ 12.6
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดนครปฐม ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาฯ และกลุ่มค้าปลีก ในการลงทุนหลายโครงการ โดยเมื่อมี.ค.2567 ที่ผ่านมาเซ็นทรัลพัฒนา ได้เปิด ‘Central นครปฐม’ ซึ่งเป็นโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่มีพื้นที่ถึง 100 ไร่ใกล้พระปฐมเจดีย์ติดถนนเพชรเกษม ,ส่วน ศุภาลัย เปิดตัวโครงการในจังหวัดนครปฐม จำนวน 3 โครงการซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี ส่วนบริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวคอนโดมิเนียมหลายโครงการติดถนนเพชรเกษมตรงข้ามเซ็นทรัล นครปฐมใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัว“บ้านลุมพินี นิวนครปฐม”โครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม
จังหวัดนครปฐมมีการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินมาก เป็นผลจากการขยายตัวของเมือง ที่มีการพัฒนาโครงการในระบบถนนทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการขนส่งมวลชนระบบรางทั้งเส้นทางใหม่และส่วนต่อขยาย ซึ่งสร้างความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกเมืองได้เร็วและสะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาที่ดินบริเวณชานเมืองยังไม่สูงมากนัก จึงทำให้พื้นที่ชานเมืองเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการหาซื้อที่อยู่อาศัยในราคาย่อมเยา
ข่าวแนะนำ