คลังเร่งแก้ภาษีที่ดินใช้มา 5 ปี เผชิญสารพัดปัญหา
“ภาษีที่ดิน” กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาผลักดันกันมาหลายสิบปี พอนำมาใช้แล้ว 5 ปี เกิดปัญหากับการบังคับใช้มากมาย จนกระทรวงการคลัง เร่งปรับแก้เพื่อให้กฎหมายสามารถเดินหน้าได้ต่อไป
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 2562 โดยมีเวลา 1 ปีให้หน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัว
เริ่มมีการเก็บภาษีจริงตั้งแต่ปี 2563 แต่จังหวะไม่ดี เกิดการระบาดของโควิด19 จึงทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นออกแนวทางลดหย่อนภาษีร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเป็นเวลา 2 ปี คือในช่วงปี 2563-2564
พอมาในปี 2565 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลในขณะนั้น เรียกเก็บภาษีที่ดินฯ เต็มอัตรา (100%) แต่เนื่องจากมีการเรียกร้องจากภาคเอกชน ทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ขอผ่อนผันเนื่องจากธุรกิจเพิ่งฟื้นจากโควิด ทำให้ในปี 2566 รัฐบางประกาศลดการจัดเก็บภาษีลงร้อยละ 15
ในปีนี้ การจัดเก็บภาษีกลับมาจัดเก็บได้เต็มอัตราอีกครั้ง และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาบังคับใช้ เดินทางมาครบ 5 ปี จึงมีเสียงเรียกร้องทั้งจากประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่างกทม. ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดภาระประชาชน ผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาต่างๆ ในการเก็บภาษี
ทำให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำร่างแก้ไข เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สศค.เปิดรับฟังความเห็น เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-15 พ.ค.2567 โดยเป็นการรับฟังความเห็นทั้งจากส่วนราชการ นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มีผู้มาแสดงความคิดเห็น 571 ราย ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการนำข้อมูลมาแก้ไขกฎหมาย
กระทรวงการคลังได้สอบถามในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคืออัตราการจัดเก็บและการผ่อนปรน ที่ทางกระทรวงการคลังมองว่าอาจต้องปรับปรุงใหม่ จากปัจจุบันมีการจัดเก็บ 3 ประเภทคือ
1.เกษตรกรรม จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.01-0.1 แต่บุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น
2.บ้านพักอาศัย อัตราจัดเก็บร้อยละ 0.02-0.1 ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยหลักแรกที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี
3.ที่ดินอื่นและรกร้างว่างเปล่าร้อยละ 0.3-0.7 โดยมีการกำหนดให้เพิ่มอัตราร้อยละ 0.3 ทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมต้องไม่เกิน ร้อยละ 3
นอกจากนี้ยังมีการสอบถามถึงกรณีที่ดินเกษตรกรรม การใช้ที่ดินความหมายการประกอบการเกษตร ตรงนี้อิงตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ.2560 เช่น การทำนา ทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงความเหมาสมของอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ เช่น ต้องปลูกกล้วย 200 ต้นต่อไร่ , ปลูกมะพร้าว 20 ต้นต่อไร่ , เลี้ยงวัว 1 ตัวต่อการใช้ที่ดิน 5 ไร่ หรือ 1 ตัวต่อการใช้พื้นที่คอกหรือโรงเรือน 7 ตารางเมตร ว่าควรมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่
ส่วนในเรื่องการยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้สอบถามว่าการยกเว้นดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ หรือควรยกเว้นที่มูลค่าเท่าใด
รวมถึงสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยถูกเก็บอัตรา ร้อยละ0.02-0.10 และถ้ากำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยแบบมีค่าตอบแทนต้องเสียภาษีสูงกว่าที่อยู่อาศัยหรือไม่ เช่น บ้านเช่า หอพัก
นอกจากนี้ได้สอบถามความเห็นถึงการให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บในเขต อปท.ได้ โดยอาจสูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ อัตราภาษีจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ข้อสรุปทั้งหมดจะมีการรวบรวม และนำไปปรับแก้กฎหมาย เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สรุปปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วงที่ผ่านมา ว่ามี 4 ประเด็นที่ยังเป็นปัญหา
1. อปท. ได้รับไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้อปท.แจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ก.พ.ของทุกปี ซึ่ง อปท.ต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการจัดเก็บภาษี โดยอาจมีข้อจำกัดของข้อมูล เช่น ข้อมูลรูปแปลงที่ดินหรือข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดิน รวมทั้งอปท.ไม่ได้แจ้งข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองการ จดทะเบียนการเช่า เพราะ อปท.ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่ของบุคคลตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและที่อยู่ของนิติบุคคลตามฐานข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งส่งผลให้หนังสือแจ้งการประเมินถูกตีกลับ และทำให้ อปท.ต้องปิดหนังสือหรือส่งประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเพิ่มขั้นตอนและต้นทุนการจัดเก็บภาษี
นอกจากนี้ อปท.ไม่มีข้อมูลแนวเขตการปกครองที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใดบ้างอยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง และไม่มีข้อมูลที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ นิคมสร้างตนเอง
2. การคำนวณภาษีที่ดินมีหลายขั้นตอนและอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ หากดูตามกฎหมายกำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานใน การคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างและตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทรวมทั้งกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใช้ประโยชน์หลายประเภทต้องแยกคำนวณตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์แต่ละประเภทด้วย ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดในการดำเนินการ
3.ผู้เสียภาษีอาจไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ โดย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ อปท.จัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี แต่อาจเกิดปัญหา เช่น ผู้เสียภาษีไม่อนุญาตไม่ให้สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่นำส่งเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างให้อปท. เพื่อใช้ประเมินภาษีรวมทั้งผู้เสียภาษี หรือผู้เสียภาษีไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจภาษีที่ดิน
4. ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นตั้งพนักงานสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “แต่พนักงานสำรวจมีภาระงานประจำอยู่แล้วทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น” และเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสำรวจที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสำรวจล่าช้าและตกสำรวจ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของ อปท.ลดลง
กระทรวงการคลังมีการประเมินว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านๆ มา “โดยในปี 2566 เก็บภาษีได้ 35,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้(2567) จะจัดเก็บได้ 43,000 ล้านบาท” และคาดว่าในปีต่อๆ ไป โอกาสที่รายได้จะลดลงแทบไม่มี เนื่องจากฐานภาษี คือ มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงขึ้นทุกปี ยกเว้นจะมีการปรับปรุง แก้ไข หรือลดหย่อนภาษี
กระทรวงการคลังมองว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการขยายฐานภาษีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจาก อปท.จะสามารถจัดเก็บภาษีจากที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่แต่เดิมเจ้าของไม่เคยแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ รวมถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
เมื่อ อปท.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มขึ้น อปท.จะมีรายได้ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดเก็บภาษีจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ทิ้งไว้รกร้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
ภาษีที่ดินฯ ซึ่งประกาศใช้มานานถึง 5 ปี แต่ยังมีปัญหาจัดเก็บทุกปี
ในปีนี้ มีปัญหาว่า ประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินได้รับการแจ้งการประเมินภาษีที่ดินล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้จ่ายภาษีไม่ทันเวลา
“กระทรวงมหาดไทย” เตรียมออกประกาศขยายเวลาการเสียภาษี โดยผ่อนผันให้กับผู้ที่เสียภาษีไม่ทันตามกำหนดเดือนเม.ย. ไม่มีความผิด โดยจะขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน เป็นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษี รวมถึงขยายกำหนดเวลาการแจ้งเตือนผู้ค้างภาษี จากเดิมต้องแจ้งภายในเดือนพฤษภาคม เป็นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระภาษี
ส่วน “กรุงเทพมหานคร (กทม.)” ที่เป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากที่สุด มีข้อเรียกร้องให้ปรับอัตราการจัดเก็บภาษี เพราะพบว่าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยในปีงบประมาณ 2563 กทม.จัดเก็บได้ 1,256 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บได้ 1,800 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 จัดเก็บได้ 12,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้จัดเก็บเต็มอัตรา คาดว่าจะจัดเก็บได้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือนฯ ของเดิมที่เคยจัดเก็บได้ 15,300 ล้านบาท
ส่วน “ภาคเอกชน” ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ และในภาคท่องเที่ยว พยายามเรียกร้องขอให้ลดหย่อน ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดิน เพราะมองว่าภาษีนี้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น โดยพยายามเรียกร้องมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ข่าวแนะนำ