TNN "วัยทำงาน-ต่างชาติ" ฐานใหญ่ตลาดทองไทย

TNN

รายการ TNN

"วัยทำงาน-ต่างชาติ" ฐานใหญ่ตลาดทองไทย

กลุ่มคนในวัยทำงาน Gen X Gen Y เป็นฐานใหญ่สุดของตลาดทองคำไทย และมีแนวโน้มการซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนลูกค้าต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักที่ต้องให้ความสำคัญ

การถือครองทองคำทั้งในรูปแบบของเครื่องประดับ และการซื้อทองเพื่อการการลงทุนของคนไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้มูลค่าตลาดทองคำในไทยสูงขึ้น  

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) “ ระบุว่า ตลาดทองคำในไทยที่ถือครองโดยผู้บริโภค ครอบคลุมถึงสินค้าเครื่องประดับ รวมถึงทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ  ในปี 2564 ที่มีมูลค่า 66,000 ล้านบาท  ขยายตัวต่อเนื่องมาถึงปี 2566  มีมูลค่าแตะระดับ 91,000 ล้านบาท โดยพบว่าคนไทยถือครองเครื่องประดับทำด้วยทองคำร้อยละ 21 และถือครองทองคำในลักษณะของการลงทุน ถึงร้อยละ 79”

 

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า คนไทยที่มีการลงทุนในทองคำมากที่สุด คือคนในวัยทำงาน ใน กลุ่ม Gen X  อายุตั้งแต่ 44-59 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen Y อายุประมาณ 30-42 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34  /  กลุ่ม Baby Boomer คนที่มีอายุ 56-74 ปี สัดส่วน ร้อยละ 11 และกลุ่ม Gen Z หรือผู้ที่มีอายุ 12-27  สัดส่วน ร้อยละ 4 

ถ้าไปดูรายละเอียดลึกๆ พบว่า กลุ่ม Gen X และ Y มีสัดส่วนผู้ที่สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำสูงกว่า Gen อื่น ๆ  ตรงนี้สะท้อนฐานนักลงทุนกลุ่ม Gen X และ Y ที่ยังเป็นกลุ่มหลักที่ลงทุนในทองคำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อพิจารณากลุ่มที่สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำ จำแนกตามระดับรายได้ จะพบว่า กลุ่มที่มีรายได้ระดับ 50,000 บาท/เดือนลงมา สนใจลงทุนเพิ่มเติมในทองคำ ตรงนี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้ค้าทองอาจขยายฐานนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว ด้วยการมุ่งเน้นการนำเสนอบริการลงทุนในทองคำที่ตอบโจทย์กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา อย่างการเปิดบัญชีจำหน่ายทองคำในหน่วยย่อย เพื่อให้ผู้ลงทุนที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาสามารถทยอยลงทุนได้อย่างเหมาะสมตามระดับเงินออม และสะสมรับเป็นทองคำได้เมื่อถึงน้ำหนักที่กำหนด

 

จากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าสินค้าทองคำขั้นปลาย ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุน การเพิ่มรายได้ทั้งจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ยังเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของผู้ค้าทองคำ ที่สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง 

-ขยายฐานลูกค้าไปยังต่างชาติ ทั้งผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ซึ่ง SCB EIC มองว่า ยังมีโอกาสในการขายเครื่องประดับทองคำให้กลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเครื่องประดับทองคำจากไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีการถือครองทองคำต่อหัวที่สูง ที่มาท่องเที่ยวในไทย อย่างชาวตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวในการมาท่องเที่ยวในไทย อยู่ที่ 13,860 บาท 11,122 บาท และ 8,594 บาท ตามลำดับ

 รวมถึงชาวฮ่องกง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวในการมาท่องเที่ยวในไทย สูงถึง 19,624 บาท สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านช้อปปิ้งโดยเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ 7,933 บาท จึงเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำจะเจาะกลุ่มนี้ให้มากขึ้น 

สำหรับผู้ค้าทองที่มีสาขาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว อาจทำการตลาดกระตุ้นการซื้อเครื่องประดับทองคำในสาขาที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีการถือครองทองคำต่อหัวที่สูง รวมถึงอาจเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขายสินค้าที่ระลึก เพื่อทำการตลาดร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าทองสามารถขยายช่องทางการขายเครื่องประดับทองคำไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีศักยภาพได้เพิ่มเติม

ในการเจาะตลาดกลุ่มนี้ เน้นในสินค้าที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ความประณีต การออกแบบลวดลายทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากกลุ่มผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำ ที่นิยมซื้อเพื่อสะท้อนความมั่งคั่ง และเก็บสะสม ซึ่งเป็นกลุ่มฐานผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำที่ใหญ่ที่สุด

 -นอกจากนี้ผู้ค้าทองรายใหญ่ยังสามารถขยายการให้บริการ “ด้วยการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สถาบันการเงิน การขายทองคำผ่าน E-wallet” เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย และลงทุนในทองคำได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

 -สำหรับผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจ “ขยายบริการการออมทอง” ในช่วงที่ปริมาณการซื้อขายทองคำชะลอตัว ที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการ ทำให้ต้องเร่งสร้างรายได้เพิ่มผ่านการขยายการให้บริการ อย่างการซื้อขายทองคำผ่านโปรแกรมการออมทอง หรือการแบ่งขายทองคำสำหรับสะสมเป็นน้ำหนักทองในหน่วยย่อยเป็นกรัม หรือมิลลิกรัม สำหรับผู้ซื้อทองคำที่ต้องการทยอยสะสม และนักลงทุนในพื้นที่ เพื่อขยายโอกาสในการซื้อขายทองคำที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อขายทองคำหน้าร้าน ซึ่งมักจำหน่ายอย่างน้อยครึ่งสลึง (1.89 กรัม) เพื่อเพิ่มโอกาสการจำหน่าย โดยเฉพาะจากผู้ซื้อทองคำรายย่อย และนักลงทุนกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์ม หรือมีบัญชีการซื้อขายออนไลน์ของผู้ค้าทองรายใหญ่ได้ โดยการมีหน้าร้านจะเป็นปัจจัยหนุนให้โปรแกรมการออมทองมีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการบัญชีซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพ และมีทองคำที่พร้อมส่งมอบเมื่อลูกค้าต้องการรับสินค้า เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจเร่งสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการอื่น ๆ เช่น รับขายฝาก รับซ่อมทอง ชุบทอง โดยการพัฒนาฝีมือของช่างทอง หรือการส่งต่อทองคำไปยังช่างทองที่มีฝีมือที่เป็นพันธมิตรกับร้าน จะเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับผู้ค้าทองรายกลางและเล็กได้ทางหนึ่ง

ที่สำคัญผู้ค้าทองต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำออนไลน์ให้มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และนักลงทุน รวมถึงขยายโอกาสในการทำธุรกรรมซื้อขายทองคำ 

ปัจจุบัน การซื้อขายทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนมากกว่าการซื้อขายหน้าร้าน แต่ธุรกรรมการซื้อขายทองคำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงมีความเสี่ยง เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ ความปลอดภัยของข้อมูล การถูกหลอกลวงลงทุน ที่เป็นช่องทางฉ้อโกงจากมิจฉาชีพ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค และนักลงทุน ดังนั้นเจ้าของแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำออนไลน์ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ค้าทองรายใหญ่ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และขยายโอกาสในการทำธุรกรรมซื้อขายทองคำ ไปจนถึงสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค และนักลงทุนที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ 

นอกจากนี้ การส่งเสริมอุปสงค์จากการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะสามารถสร้างโอกาสในการขยายขอบเขตการซื้อขายทองคำ จากการที่ภาครัฐกำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ หรืออยู่ในกลุ่ม First S-curve ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน ทั้งนี้การผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มีการใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มากขึ้น ก็จะกระตุ้นอุปสงค์ทองคำในภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้มากขึ้น

 

ธุรกิจค้าทองคำยังถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะได้แรงหนุนจากผู้ซื้อ ข้อมูลจาก บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่า  “ในปีนี้มูลค่าการซื้อ-ขายรวมในตลาดทองคำของประเทศไทยมากกว่า 5 ล้านล้านบาทต่อวัน โดยถือเป็นมูลค่าการซื้อ-ขายอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมูลค่าการซื้อ-ขายดังกล่าวมาจากทองคำกายภาพ รวมกับการซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์  พบว่า การซื้อขายทองผ่านออนไลน์สูงถึงร้อยละ 65  ซึ่งเป็นการซื้อ-ขายเพื่อการลงทุน และขณะนี้ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อ-ขายบนบล็อกเชน ทำให้คล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท ก็สามารถซื้อได้แล้ว”

ขณะนี้ตลาดทองคำไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของการบริโภคทองคำโดยรวม ซึ่งเป็นการรวมกันของการบริโภคทองคำในภาคทองคำแท่งและในภาคการบริโภคเครื่องประดับ 

หากพิจารณาเฉพาะด้านการลงทุนในทองคำแท่ง พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2558-2565) ประเทศไทยบริโภคทองคำโดยรวมติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่เพียงจีนและอินเดียเท่านั้น และติดอันดับ 7 ของโลก ทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคทองคำของไทยโดยเฉลี่ยในปี 2558-2565 อยู่ที่ 63 ตันต่อปี

 


ข่าวแนะนำ