ทองแพงหนุนผู้ค้าสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท
ปีนี้ราคาทองคำแพงขึ้นมาก จากบาทละ 3 หมื่นกว่าบาท ล่าสุดยืนเหนือ 4 หมื่นบาทมานานกว่า 3 เดือนแล้ว ขณะนี้มีการพูดถึงว่าจะได้เห็นราคา 5 หมื่นบาท พาไปดูว่าราคาทองคำแพงที่ขึ้นจะมีผลต่อร้านค้าทองคำ และการผลิตทองคำในไทยมากน้อยแค่ไหน
ถ้าย้อนไปดูราคาทองคำในช่วง 20 ปี พบว่าทองคำปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด บางปีราคาลดต่ำไปบ้าง แต่ก็สามารถกลับมาทำสถิติใหม่ได้อีกครั้ง
เมื่อปี 2546 ราคาทองคำอยู่ที่ 7,160 บาทต่อบาททองคำ หลังจากนั้นในช่วงปี 2550 ราคาปรับขึ้นไปอยู่ที่ 13,300 บาทต่อบาททองคำ ต่อมาในปี 2555 พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 25,900 บาทต่อบาททองคำ แต่ปี 2560 ย่อตัวลงมาหน่อยที่ 21,200 บาทต่อบาททองคำ และในปี 2566 อยู่ที่ 34,400 บาทต่อบาททองคำ ส่วนในปี 2567 ในเดือนนี้ ก.ค. ทำสถิติใหม่ที่ 42,150 บาทต่อบาททองคำ
ถ้าถามว่าทองแพงขนาดนี้แล้ว มีโอกาสแพงกว่านี้อีกหรือไม่ นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์แม่ทองสุก จำกัด ให้คำตอบว่า มีโอกาสได้เห็นราคาทอง 50,000 บาทต่อบาททองคำ ถ้าดูจากราคาต้นปี 2567 อยู่ที่ 32,000 บาทต่อบาททองคำ ล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่กว่า 42,000 บาทต่อบาททองคำ ปรับขึ้นมากว่า 10,000 บาท ถ้าปีนี้ราคาทองคำในไทยยังสามารถยืนอยู่ที่ 40,000 บาทต่อบาททองคำ และปีหน้าขึ้นร้อยละ 20 จะแตะ 48,000 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาที่จะสูงถึง 50,000 บาท จะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และทิศทางของค่าเงินบาท
แต่ถ้าดูในฝั่งผู้ซื้อ กำลังซื้อทองคำในไทยไม่ดีนัก เป็นผลจากราคาทองคำแพงขึ้น โดยในปีนี้ราคาทองคำขาขึ้น สวนทางกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง คนไทยยังมีรายได้เท่าเดิม การซื้อทองรูปพรรณจึงลดลง แต่สวนทางกับยอดขายทองคำแท่งกลับเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยเปลี่ยนรูปแบบการซื้อทอง เพื่อออมมากขึ้น
ผู้บริหาร เอ็มทีเอสโกลด์ ระบุว่า การซื้อขายทองคำในปัจจุบัน เกิดปรากฏการณ์ใหม่ รายย่อยเข้าซื้อทองคำมากกว่าขาย เนื่องจากเชื่อมั่นว่าราคาทองคำน่าจะไปต่อได้ ที่สำคัญกลุ่มผู้ซื้อหรือนักลงทุนที่เข้ามาซื้อทองนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเดิมที่ซื้อทองคำ และกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยซื้อมาก่อนแล้วมาซื้อเพื่อเก็บออม และสะสมไว้ เพราะมองว่าจะได้กำไรในอนาคต ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนมีการออมมากขึ้น
เมื่อรูปแบบการซื้อขายทองคำเปลี่ยนไป หันมาซื้อออนไลน์ ซื้อเพื่อการลงทุนมากขึ้น ย่อมกระทบต่อร้านค้าทองคำที่เน้นขายทองรูปพรรณ จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ระบุว่า การค้าขายทองคำในปัจจุบันบรรยากาศค่อนข้างเงียบและกำลังซื้อลดลงประมาณร้อยละ 20-30 ตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การขายทองคำรูปพรรณไม่ค่อยดีนัก ขณะที่ทองคำแท่งการซื้อขายขึ้นๆ ลงๆ ตามค่าเงินบาท จึงส่งผลกระทบต่อร้านค้าทองคำรายเล็กที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการขายทำให้เริ่มเห็นการปิดกิจการในช่วงที่ผ่านมา แม้ปิดตัวไม่มาก แต่หากต้นทุนปรับสูงขึ้นอีก อาจเห็นร้านขายทองปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิจัย “ธุรกิจทองคำไทย ไปต่ออย่างไรให้ยิ่งมั่งคั่ง” โดยระบุว่า ธุรกิจค้าทองในไทยมีจำนวนผู้ประกอบการราว 9,700 ราย ส่วนใหญ่เป็น ผู้ค้าทองรายกลางและเล็ก มีสัดส่วนกว่า ร้อยละ 97 ของจำนวนผู้ค้าทองโดยรวมทั้งประเทศ
ถ้าไปดูรายได้ของผู้ค้าทองพบว่า “รายได้ของธุรกิจค้าทอง ในช่วงปี 2562 -2565 ขยายตัวต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 17 ต่อปี โดยในปี 2565 มีรายได้รวมกันถึง 1.9 ล้านล้านบาท(หนึ่งล้านเก้าแสนล้านบาท) จากมูลค่าทองคำที่สูงขึ้น คาดว่าในปีนี้รายได้ของร้านค้าทองคำรวมกันจะไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท
แม้จะมีรายได้สูง แต่ร้านค้าทองคำมีต้นทุนขายที่สูงเช่นกันทั้งราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงานส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ของธุรกิจทองอยู่ที่ร้อยละ 1.3 เท่านั้น โดยร้านทองจะได้กำไรค่ากำเหน็จประมาณ 500-1,000 บาท/บาททองคำ ซึ่งค่ากำเหน็จนี้มีจะปรับขึ้นได้ไม่มากนัก
ต้นทุนการผลิต รวมถึงค่าใช้ในจ่ายในการขายและบริหารปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตรากำไรของธุรกิจค้าทองโดยรวมลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายของผู้ค้าทองที่ต้องบริหารจัดการต้นทุน เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรของกิจการ โดยเฉพาะผู้ค้าทองรายกลางและเล็กยังเผชิญความท้าทายด้านจำนวนฐานลูกค้า และความสามารถในการแข่งขันที่ยังต่ำกว่าผู้ค้าทองรายใหญ่อยู่มาก
ถ้าไปดูพบว่า เริ่มเห็นการทยอยปิดกิจการของร้านค้าทองคำ โดย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีธุรกิจค้าทองจดทะเบียนเลิกกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าทองขนาดเล็ก ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ล้านบาท
แต่จากรายได้ของธุรกิจค้าทองในไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจค้าทองยังได้รับความสนใจในการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนธุรกิจค้าทองจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ถ้าดูการค้าขายทองคำในไทย ธุรกิจค้าทองคำยังคงเป็นของผู้เล่นรายใหญ่ เพราะผู้ค้าทองรายใหญ่ ที่มีรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท/ปี จำนวนราว 300 ราย ยังคงครองส่วนแบ่งรายได้ส่วนใหญ่ในตลาด โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 93 ของรายได้ธุรกิจร้านทองโดยรวมทั้งประเทศ
ผู้ค้าทองรายใหญ่มีรูปแบบการสร้างรายได้ที่หลากหลาย เช่น บริการซื้อขาย จำหน่ายทองคำเป็นหน่วยย่อย ลงทุน ออมทอง รับจำนำทอง รับขายฝากทอง โดยมีการเปิดสาขาให้บริการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไปจนถึงการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้ค้าทองรายใหญ่มีข้อได้เปรียบด้านการให้บริการที่หลากหลาย มีการประกอบธุรกิจมายาวนานทำให้มีความน่าเชื่อถือในด้านมาตรฐานทองคำ รวมถึงการรับประกันราคารับซื้อคืนทองคำที่ค่อนข้างสูง หากเป็นทองคำที่ถูกซื้อออกไปจากร้านเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันผู้ค้าทองรายใหญ่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ทั้งรายย่อย และนักลงทุน
ขณะที่ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กยังมีรูปแบบการให้บริการที่จำกัด โดยส่วนใหญ่เป็นร้านทองในท้องถิ่น ที่ให้บริการซื้อขาย รับจำนำทอง และรับขายฝากทองสำหรับผู้บริโภค และนักลงทุนในพื้นที่
นอกจากค้าทองคำแล้ว ไทยยังมีการผลิตทองคำทั้งในรูปแบบการทำเหมืองแร่ทองคำ “ที่มีการผลิตทองคำได้ปีละ 3-5 ตัน ถือว่ายังมีสัดส่วนการผลิตที่น้อยมากเพียง ร้อยละ 0.1 ของปริมาณการผลิตทองคำโดยรวมทั้งโลก”
ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ปัจจุบันการทำเหมืองทองคำของไทยมีพื้นที่ที่ได้ประทานบัตรแร่ทองคำที่ยังไม่หมดอายุโดยรวมอยู่ที่ 4,706 ไร่ กระจุกตัวอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เลย และเพชรบูรณ์
สำหรับกระบวนการสกัดให้เป็นทองคำบริสุทธิ์นั้น ปัจจุบันมีโรงงานสกัดทองคำในไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.9% แต่การผลิตทองคำในไทยส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องอาศัยการส่งออกทองคำไปยังโรงงานสกัดทองคำในต่างประเทศ ที่สามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล เพราะไทยยังไม่ตั้งโรงงานสกัดที่เป็นมาตรฐานสากลได้ เนื่องจากการผลิตผลิตทองยังไม่ถึง 10 ตันต่อปี ที่เป็นหนึ่งในข้อกำหนดการตั้งโรงงานสกัด
สำหรับการส่งออกทองคำของไทยส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการส่งทองคำไปสกัดที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสกัดทองคำที่สำคัญของโลก หลังจากนั้นจึงนำเข้าทองคำบริสุทธิ์กลับเข้ามาผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายที่ไทย เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกอีกครั้งหนึ่ง “โดยพบว่าไทยมีการส่งออกเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำแท้ในปี 2566 ถึง 91,162 ล้านบาท”
ข่าวแนะนำ