ไทยเร่งผลักดันอาหารอาฮาลสู่ฮับอาเซียน
รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร โดยหนึ่งในนั้นมีเรื่องอาหารฮาลาลรวมอยู่ด้วย ล่าสุดมีความคืบหน้าเรื่องนี้ออกมาพอสมควร
เมื่อสัปดาห์ก่อน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ซึ่ ที่ประชุมเห็นชอบความคืบหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (2567-2570) มีวิสัยทัศน์มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น ASEAN Halal Hub หรือศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 2570 ตอบโจทย์นโยบาย IGNITE THAILAND ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)
แผนปฏิบัติการฉบับนี้ “มีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ร้อยละ 1.2 คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท”
กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ “วางกรอบใช้งบประมาณ 1,230 ล้านบาท “
รวมถึงการ “ผลักดันการจัดตั้งไทยแลนด์ ฮาลาล วัลเลย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ”
แผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่
2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง
3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล
4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง
5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล
มีวางกรอบการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ผ่าน 3 มาตรการ ดั
1. การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ
2. การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ การยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก และ
3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) เป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทย (Thailand Halal Valley) ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย และพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย
ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอาหารฮาลาล โดยตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก พบว่า “มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สองล้านหกแสนล้านเหรียญสหรัฐ) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ห้าล้านสองแสนแปดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5” เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม
ถ้าไปดูเป็นรายตลาดพบว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้นตลาดในกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือ OIC ที่มีผู้บริโภคมุสลิมขนาดใหญ่กว่า 57 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 1,200 ล้านคน อีกทั้งบางประเทศยังมีความมั่นคงทางอาหารต่ำ จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ทำปศุสัตว์และแปรรูปอาหาร อาทิ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา จึงทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสูง
ทำให้ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกอาหารไปในกลุ่ม OIC เติบโตกว่าภาพรวมการส่งออกไปตลาดโลกกว่าเท่าตัว โดยในช่วงปี 2563-2566 เติบโตกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดโลกเติบได้ราวร้อยละ 7.5 ต่อปี
ถ้าดูเป็นรายประเทศพบว่า ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เป็นคู่ค้าในตลาด OIC ที่ไทยน่าเข้าไปเจาะตลาดได้มากขึ้น นอกเหนือจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารฮาลาลโดยการรับรอง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นตลาดนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลโดยการรับรองที่มีศักยภาพเติบโต สะท้อนจากการเป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญ และมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของทั้งสองประเทศ เติบโตเฉลี่ยได้ราว ร้อยละ 7.4 ต่อปี ในช่วงปี 2562-2565 ท่ามกลางศักยภาพในการจับจ่ายที่มาก ด้วยรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวที่สูงถึง 32,000 และ 51,900 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าไทยถึง 4-7 เท่า จึงทำให้มีกำลังซื้อที่สูงมาก
2. ตลาดใน 2 ประเทศมีศักยภาพในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศมุสลิมอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถส่งออกสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ GCC ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน กาตาร์ และบาห์เรน ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล และการควบคุมไว้ร่วมกัน ซึ่งหากสินค้าของไทยผ่านข้อกำหนดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้
นอกจากนี้ ไทยกำลังอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหรือ Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้น่าจะช่วยผลักดันการส่งออกอาหารฮาลาลประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากสินค้าส่งออกสำคัญอย่างอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป
แนวโน้มการส่งออกอาหารฮาลาลที่ทำรายได้เข้าไประเทศปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย “คาดว่าในปี 2567 การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยตลาดโลกที่คาดว่าจะหาดตัวร้อยละ 0.8 ส่วนตลาด OIC น่าจะยังเติบโตเล็กน้อย ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน”
สำหรับสินค้าที่น่าจะเติบโตต่อเนื่อง คือ “อาหารฮาลาลโดยการรับรอง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในตลาดนี้ได้ราวร้อยละ 5.0” เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง/ แปรรูปที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนความต้องการไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ที่มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ โดยเฉพาะมาเลเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย
ขณะที่สินค้าหลักอย่าง “อาหารฮาลาลธรรมชาติ ปีนี้คาดว่าอาจหดตัวราวร้อยละ 1.2” เมื่อเทียบกับปีก่อน หลักๆ มาจากการส่งออกน้ำตาลทรายที่ปรับลดลง ทั้งด้านปริมาณและราคา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภายใต้โอกาสทางการค้า ยังมีปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันและเงื่อนไขทางการค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง ประกอบด้วย
-การแข่งขันกับคู่แข่งประเทศมุสลิม โดยเฉพาะกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ผู้บริโภคมุสลิมส่วนใหญ่ให้การยอมรับในมาตรฐานและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตถูกต้องตามหลักศาสนา นอกจากนี้ นโยบายเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศของคู่ค้า ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา เพิ่มการลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหาร สะท้อนว่า ระยะต่อไปการพึ่งพาสินค้าอาหารฮาลาลนำเข้าของแต่ละประเทศอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง
- เงื่อนไขทางการค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น หลังจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ด้านการค้ากับซาอุดีอาระเบีย และให้การรับรองโรงงานไก่ของไทยเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกสินค้าไปนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขจากตลาดปลายทางอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรฐานการผลิตที่เป็นไปตามกฎระเบียบที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ของตลาดส่งออกอื่นๆ อาทิ การเชือดไก่
ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องชั่งน้ำหนักเทียบความคุ้มค่ากับการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรับกับเงื่อนไขดังกล่าวได้ อาทิ มีการทำข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ทั้งเรื่อง ปริมาณตามที่กำหนด/ ขนาดสินค้าและราคา/ ระยะเวลาของคำสั่งซื้อที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปเพิ่มขึ้น
ข่าวแนะนำ