TNN ขาดทุนหนัก! ทำร้านอาหารแห่ปิดกิจการ I การตลาดเงินล้าน

TNN

รายการ TNN

ขาดทุนหนัก! ทำร้านอาหารแห่ปิดกิจการ I การตลาดเงินล้าน

ธุรกิจร้านอาหารรายย่อย ทั้งร้านห้องแถว สตรีทฟู้ด ร้านออนไลน์ กำลังเจอสถานการณ์วิกฤตอีกครั้ง หลังจนปิดกิจการ

คุณ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึง สถานการณ์ร้านอาหารในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือระหว่างเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือน กรกฎาคมว่า ยอดขายของร้านอาหารในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงไปมาก โดยลดลงไปประมาณร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก ทั้งที่เป็น ร้านห้องแถว และร้านสตรีทฟู้ด (หาบเร่ แผงลอย) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องทางการเงินไม่มากนัก เมื่อขาดทุนต่อเนื่องอย่างหนัก 3 เดือนติดต่อกัน อาจจะไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จนต้องปิดกิจการไปและไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่มีหน้าร้านเท่านั้น (ที่ปิดกิจการไป) แต่ช่วงที่ผ่านมา พบว่าร้านอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ปิดตัวไปจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ พบว่า เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยกเว้นบางจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ยังไปได้ดี แต่ เชียงใหม่ แม้จะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเช่นกัน แต่ยอดขายกลับซบเซา รวมถึงจังหวัดน่าน ที่ยอดขายลดลงไปมาก 

สาเหตุหลักมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึง ปัญหาในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้นที่ลดลง ล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังธุรกิจร้านาอาหารด้วย และทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายของตัวเองมากขึ้น

คุณฐนิวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วช่วงนี้ จะถือเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจร้านอาหาร แต่ปีนี้ พบว่ายอดขายตกลงมากกว่าปกติ จนผู้ประกอบการหลายรายเริ่มถอดใจ และไปต่อไม่ไหว จะเห็นได้ว่ามีการประกาศปิด และเซ๊งร้านกันเป็นจำนวนมาก 

จากมุมมองดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของ ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่รายงานว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ร้านอาหารได้เริ่มทยอยปิดตัวไปมากกว่าร้อยละ 40 แล้ว และคาดว่าหากสถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือยังไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ คาดว่าภายในปี 2567 การปิดตัวของร้านอาหาร จะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่าร้อยละ 50

คุณ สรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า สาเหตุที่ธุรกิจร้านอาหารปิดตัวจำนวนมาก เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างหนัก ฉุดกำลังซื้อของประชาชน ให้หดตัวไปกว่าร้อยละ 60 ตลอดจนปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ค่าไฟ และค่าขนส่ง ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหาร ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังเข้ามาไม่มากเท่าที่ควร 

ด้าน คุณฐนิวรรณ กล่าวอีกว่า หากมองในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ จะพบว่ามีหลายเซกเตอร์ ที่ไม่สู้ดีนัก เช่น อสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ เป็นต้น แต่สำหรับธุรกิจร้านอาหารต้องบอกว่า ก็หนักหนาเช่นกัน

ปัจจัยหลักของธุรกิจร้านอาหาร ก็คือ ต้นทุน หากต้นทุนสูงขึ้น แต่ยังสามารถขายของได้ ก็จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่ปัจจุบัน ต้นทุนสูงขึ้น แต่ขายของไม่ได้ จึงส่งผลกระทบหนักต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ค่าพลังงาน(ที่เป็นต้นทุนค่าขนส่ง) ค่าไฟฟ้า และ ค่าแรง จึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยลดต้นทุนเหล่านี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ 

ข่าวแนะนำ