"กระแสเกาหลี" พุ่งแรงบนดิจิทัล? I การตลาดเงินล้าน
K-Culture หรือ วัฒนธรรมเกาหลี กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีอิทธิพลต่อยอดขายสินค้าและบริการจากเกาหลีให้พุ่งสูงขึ้น
บริษัทวิจัย กันตาร์ (Kantar) ร่วมกับ TikTok ชี้ให้เห็นว่า ความนิยมในคอนเทนต์เกาหลี ถูกขยายให้เป็นกระแสมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล เริ่มจากคลิปวิดีโอสั้นบน TikTok ที่คนรุ่นใหม่มักจะแสดงออกด้วยการเต้นไปกับเพลงยอดนิยม จนทำให้กลายเป็นแหล่งรวมของบรรดาแฟนตัวยงของ เค ปอป (K-pop) จากนั้นก็ขยายขอบเขตของเนื้อหา ซึ่งครอบคลุมถึงวัฒนธรรม และประเพณีของเกาหลีมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีการชื่นชม ซีรีส์เกาหลี, เพลง, อาหาร และเครื่องสำอาง กันแพร่หลายผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว
นั่นก็ทำให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนสินค้าบริการ และความบันเทิงของเกาหลีเพิ่มขึ้น มีตัวเลขคาดการณ์ถึงขนาดของตลาดในปัจจุบันของ ฮันรยู (Hallyu) ซึ่งหมายถึง กระแสเกาหลี หรือ โคเรียน เวฟ (Korean Wave) มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขนี้รวมการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลีไปทั่วโลก ด้วย
และคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า การใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเกาหลี ทั้งสินค้าและบริการ จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า หรือเพิ่มเป็นมูลค่า 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า เนื้อหาบน TikTok ของ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ได้ขยายขอบเขตไปถึงหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งอาหารเกาหลี และละครเกาหลี ซึ่งได้ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม, มีม และการขายสินค้าในโลกแห่งความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ ยอดขายรามยอน บุลดัก เพิ่มสูงขึ้น หลังจาก แร็ปเปอร์ชื่อดัง คาร์ดิ บี (Cardi B) พูดถึงในคลิปวิดีโอของเธอจนกลายเป็นกระแสไวรัล
จากกระแส ไวรัลของ รามยอน บุลดัก บน TikTok บลูมเบิร์ก รายงานก่อนหน้านี้ว่า มีส่วนผลักดันให้ราคาหุ้นของผู้ผลิตรามยอนดังกล่าว คือ บริษัท ซัมยัง ฟู้ด (Samyang Food) เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30
ซึ่งย้อนไป เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา คาร์ดิ บี ศิลปินวัย 31 เผยแพร่วิดีโอ ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ด้านรีวิวอาหารชื่อดัง พวกเขาพูดคุยกันเกี่ยวกับ รามยอน บุลดัก รสคาโบนารา เธอบอกว่าเห็นเป็นกระแส จึงอยากลองกินบ้าง และคลิปดังกล่าวก็โด่งดัง มียอดวิวถึง 30 ล้านครั้ง และยอดกดไลก์กว่า 1,300,000 ครั้ง กลายเป็นกระแสทำให้คนอเมริกันอยากลองกินกันมากขึ้นกว่าเดิม และทำให้กลายเป็นของหายากในบางพื้นที่
ส่วน ซัมยัง เป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เจ้าแรกของเกาหลีใต้ // จากกระแสไวรัลดังกล่าว ส่งผลให้ ซัมยัง มียอดขายรามยอนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 และยังได้เปิดตัวรามยอนในเวอร์ชันเผ็ดน้อยเพื่อดึงดูดผู้บริโภคสหรัฐฯ ให้มากขึ้นด้วย
ราคาหุ้น ซัมยัง ที่เพิ่มขึ้น ยังได้แซงหน้าคู่แข่งอย่าง นงชิม (NongShim) และนับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2523 โดย ซัมยัง มีมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้น อยู่ที่ราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มีคาดการณ์จาก ซัมยัง บอกด้วยว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ในสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวต่อไป และปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายที่ร้านค้าหลัก ๆ ในสหรัฐฯ เช่น วอลมาร์ต, คอสต์โก และ แซมส คลับ รวมถึงมีแผนจะขยายไปยังช่องทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
เว็บไซต์ โคเรีย ไทม์ รายงานว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากความนิยมในวัฒนธรรมและอาหารเกาหลี มีเพิ่มสูงขึ้น โดย ณ เดือนเมษายน มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 108.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.8 จากปีก่อนหน้า
และข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลี ยังพบว่า เป็นอัตราการเติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2565
ข่าวดังกล่าว รายงานอีกว่า การส่งออกรามยอนของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความนิยมของภาพยนตร์ ละคร และเพลงเกาหลี รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมกินที่ราคาไม่สูงนัก
เมื่อปีที่แล้ว (2566) เกาหลีใต้ส่งออกรามยอน ทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 จากปี 2565 และคาดว่าปีนี้ น่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง ซึ่งยอดส่งออก น่าจะทะลุหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวแนะนำ