TNN คนอีสานพึ่งพาเงินรัฐ 17 ล้านคนรอเงินดิจิทัล

TNN

รายการ TNN

คนอีสานพึ่งพาเงินรัฐ 17 ล้านคนรอเงินดิจิทัล

มีผลสำรวจพบว่า คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นกลุ่มประชาชนที่พึ่งพาเงินจากภาครัฐมากสุด โดยประชาชนส่วนใหญ่ในภาคอีสานระบุว่ากำลังรอเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ  แต่ภาคอีสานกลับมีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 10  ของขนาดเศรษฐกิจไทย โดยเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากกรุงเทพ และปริมณฑล และภาคตะวันออก 

เมื่อประชากรมาก แต่ขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าภาคอื่น จึงทำให้เกิดปัญหาด้านรายได้ และต้องการมาตรการจากรัฐมากระตุ้นการใช้จ่าย

อีสานอินไซต์ ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ประเมินจำนวนประชาชนในภาคอีสานที่มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยดูจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินฝากรวมไม่เกิน 500,000 บาท โดยคาดว่าจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลในอีสานว่าอยู่ที่ 17 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนประชากรทั้งหมด คาดว่าเงินดักล่าวจะสะพัดในระบบเศรษฐกิจอีสานเพิ่มกว่า 1.7 แสนล้านบาท สร้างผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะคาดว่าเมื่อประชาชนได้เงินดังกล่าวมา จะนำมาใช้จ่ายทันที

 มีข้อมูลจากงานสัมมนาประจำปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ "การเงินกับการกินดีอยู่ดีของคนอีสาน" พบว่า ประชากรในภาคอีสานมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายหรือรายได้ติดลบมากสุดเมื่อเทียบทุกภาคของไทย โดยติดลบถึง 5,396 บาท /ครัวเรือน ตามมาด้วยภาคเหนือติดลบ 3,112 บาท และภาคใต้ติดลบ 1,499 บาท

จากข้อมูลตรงนี้ทำให้ครัวเรือนภาคอีสานต้อง พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐสูงสุดเมื่อเทียบกับประชากรภาคอื่นถึง 5,024 บาทต่อครัวเรือน 

 นอกจากนั้น การที่แรงงานภาคอีสานอยู่ในภาคเกษตรมากที่สุดกว่าร้อยละ 50” ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย เพราะมีรายได้ในการเก็บเกี่ยวเพียงปีละครั้ง การเพิ่มขึ้นของรายได้จึงค่อนข้างช้ามากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ 

ถ้าไปดูในรายละเอียดพบว่า รายได้จากการผลิตของครัวเรือนอีสาน ปี 2567 หดตัว จากหมวดค่าจ้าง เงินเดือน และกำไรนอกภาคเกษตร เป็นสำคัญ รายได้ที่ลดลงเป็นไปตามความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ทยอยหมดลง แต่ ปี 2568 คาดว่ากลับมาดีขึ้น จากกำไรภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามสภาพอากาศและต้นทุนปุ๋ยเคมีที่ปรับลดลง

ข่าวแนะนำ