คลังอัด 1.7 แสนล้านบาทเสริมทุนเอสเอ็มอี
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเรียกร้องให้รัฐ ช่วยเหลือด้านเงินทุน ล่าสุดกระทรวงการคลังมีโครงการทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน การค้ำประกันสินเชื่อ และสินเชื่อใหม่ SME D Bank เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุน
มาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เป็นโครงการที่ธนาคารออมสินที่ดำเนินการขึ้นมา ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีการเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์หน้า
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า การที่ธนาคารออมสินช่วยดำเนินการโครงการซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท เนื่องจากเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้นธนาคารออมสินจึงเข้าไปกระตุ้นด้วยการปล่อยซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยต่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 คาดว่า การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านจะหมดภายในเวลาไม่ 1ปี โดยขณะนี้มีธนาคารตอบรับปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนกว่าประมาณ 14 ธนาคาร
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme หรือ PGS11) ที่ดำเนินการโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบสย. โดยโครงการนี้ผ่านครม.ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมิ.ย. 2567 และในเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2567 บสย.มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 สถาบันการเงิน โดยมีพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง SMEs วางเป้าหมายช่วย SMEs กว่า 77,000 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบกว่า 60,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานงานไม่น้อยกว่า 550,000 ตำแหน่ง
ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ระบุว่า จัดแพ็กเกจเชื่อ 4 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท มีจุดเด่นคือ เข้าถึงทุกความต้องการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ช่วยให้มีเงินทุนไปเสริมสภาพคล่อง ยกระดับกิจการวางรากฐานสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าหมาว่าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 10,000 กิจการ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 90,000 ล้านบาท นำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง
สินเชื่อออกมาใหม่นี้ ครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี ตั้งแต่รายย่อย (Micro) รายย่อม (Small) และรายกลาง (Medium) “วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น ร้อยละ 2.99 ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี “และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน
ข่าวแนะนำ