TNN แฉ! นายจ้างโพสต์รับสมัคร "งานผี" I การตลาดเงินล้าน

TNN

รายการ TNN

แฉ! นายจ้างโพสต์รับสมัคร "งานผี" I การตลาดเงินล้าน

ผลสำรวจพบมีการโพสต์รับสมัครงานปลอม หรือที่เรียกว่า "งานผี" ไม่ได้ต้องการรับคนเข้าทำงานจริง ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ผิดศีลธรรม

ผลสำรวจของ เรซูเม่ บิวเดอร์ (Resume Builder) แพลตฟอร์มรับสมัครงานออนไลน์ รายงานว่า มีบริษัทมากถึง 4 ใน 10 หรือ ร้อยละ 40 จากที่ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่า ปีนี้ได้โพสต์การรับสมัครงานปลอม และ 3 ใน 10 ตอบว่า กำลังลงโฆษณาตำแหน่งงานที่ไม่มีอยู่จริง และส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ประกาศทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ 

การสำรวจดังกล่าว จัดทำโดย เรซูเม่ บิวเดอร์ ดอท คอม (ResumeBuilder.com) ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อต้องการประเมินถึงการระบาดของโพสต์รับสมัครงานปลอม หรือที่เรียกว่า "งานผี" ว่ามีมากน้อยเพียงใด มีผู้จัดการฝ่ายบุคคลถึง 649 ราย ที่ร่วมทำแบบสำรวจดังกล่าว

แฉ! นายจ้างโพสต์รับสมัคร งานผี I การตลาดเงินล้าน


นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการโพสต์รับสมัครงานปลอม ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 37 จะมาจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลเอง ส่วนร้อยละ 29 มาจากผู้บริหารระดับสูง และร้อยละ 25 เป็นแนวคิดมาจากระดับผู้บริหาร

ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 26 จะโพสต์รับสมัครงานปลอมประมาณ 1-3 รายการ แต่ก็มีบริษัทที่โพสต์มากที่สุด 75 รายการขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ตำแหน่งงานที่รับสมัครแบบปลอม ๆ จะมีทุกระดับ โดยเป็นตำแหน่งระดับเริ่มต้น ร้อยละ 63, ตำแหน่งระดับกลางร้อยละ 68, ระดับอาวุโส ร้อยละ 53 และตำแหน่งระดับผู้บริหาร มีถึงร้อยละ 45 

ส่วนสาเหตุ หรือวัตถุประสงค์ของการกระทำดังกล่าว มีอยู่หลายคำตอบ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ข้อแรกคือ การสร้างภาพลักษณ์บริษัท ให้ดูเหมือนว่ามีการเปิดรับผู้มีความสามารถจากภายนอก ถัดมาคือต้องการแสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังเติบโต ทำเพื่อให้พนักงานได้รับรู้ว่า ภาระงานของพวกเขาจะได้รับการบรรเทา เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามา และเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาสามารถถูกแทนที่ได้ สุดท้าย คือเพื่อรวบรวมเรซูเม่ ของผู้สมัคร เก็บไว้เป็นไฟล์ในภายหลัง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการสำรวจ พบว่า ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้ของบริษัท ตลอดจนต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน และประสิทธิภาพการผลิตก็ได้รับผลในเชิงบวกเช่นกัน

โดย 7 ใน 10 ของผู้ที่ยอมรับว่ามีการโพสต์รับสมัครงานปลอม คิดว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการทำผิดในด้านศีลธรรมใด ๆ 

ด้าน สเตซี ฮอลเลอร์ (Stacie Haller) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านอาชีพของ เรซูเม่ บิวเดอร์ ให้ความเห็นว่า ผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างยิ่งเพราะไม่ว่าจะเป็นการ

สร้างภาพลวงตาในการขยายธุรกิจ หรือการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตำแหน่งงานของตน สามารถทดแทนได้ ล้วนเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ พนักงานควรได้รับความโปร่งใสเกี่ยวกับบริษัทที่พวกเขาอุทิศตัวทำงานให้ แต่กลับถูกชักนำให้หลงทางโดยการให้ข้อมูลเท็จ ถือเป็นกลยุทธ์ ที่มุ่งทำลายความรู้สึกที่มีคุณค่าและความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและการที่บริษัททำเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังทำลายโอกาสในระยะยาวอีกด้วย เพราะการกระทำที่หลอกลวง จะเป็นการกัดกร่อนความไว้วางใจต่อองค์กร และขัดขวางผู้สมัครงานที่มีศักยภาพในอนาคต

อย่างไรก็ดี ระบุด้วยว่า กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการทำมาก่อนแล้ว เช่น บริษัทที่รับงานประเภทชั่วคราว จะมีการเปิดคัดเลือกผู้มีศักยภาพไว้ก่อนล่วงหน้า และเมื่อมีลูกค้าเข้ามา ก็จะต้องการคนที่พิจารณาไว้ก่อนหน้าแล้ว หรือกรณี บางองค์กร ต้องการเก็บข้อมูลของผู้สมัครงานไว้ล่วงหน้าก่อน เมื่อมีตำแหน่งว่างจริง ๆ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เก็บข้อมูลไว้แล้ว เช่นกัน

มาดูข้อมูลอีกด้าน ซึ่งเป็นสถานการณ์การเลิกจ้าง ที่ยังคงมีต่อเนื่อง ข้อมูลจาก เลย์ออฟส์ ดอท เอฟวายไอ (Layoffs.fyi) สตาร์ทอัพ ที่เก็บข้อมูลการเลิกจ้างตั้งแต่การระบาดโควิด 19 รายงานตัวเลขปี 2024 จนถึงล่าสุดเดือนมิถุนายน พบว่าบริษัทเทคกว่า 360 บริษัท มีการเลิกจ้างพนักงานแล้ว เป็นจำนวนกว่า 104,410 ราย


แฉ! นายจ้างโพสต์รับสมัคร งานผี I การตลาดเงินล้าน


ขณะที่ สื่อ อินไซเดอร์ รายงานว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทจำนวนหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี, สื่อ, การเงิน และค้าปลีก ได้ปรับลดพนักงานกันจำนวนมาก รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี อย่าง ไอบีเอ็ม (IBM), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น โกลแมน แซกส์ (Goldman Sachs) และผู้ผลิตอย่าง ดาว(Dow) ที่ต่างก็ประกาศเลิกจ้างงาน 

จนมาถึงปี 2024 ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล (Google) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) รวมถึง เทสลา (Tesla) ไนกี้ (Nike) และ แอมะซอน (Amazon) ที่ประกาศแผนการปรับลดคนในปีนี้อีก 

สอดคล้องกับผลสำรวจของ เรซูเม บิวเดอร์ ก่อนหน้านี้ ที่พบว่า ภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 40 คิดว่าบริษัทของตนมีแนวโน้มที่จะเลิกจ้างในปีนี้ และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าพวกเขาจะไม่รับคนเพิ่ม

นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงาน คือ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 4 ใน 10 ระบุว่า พวกเขาเลิกจ้างงานเพราะจะนำ AI เข้ามาใช้แทน

อินไซเดอร์ ได้รวบรวมรายชื่อบริษัทที่ประกาศการเลิกจ้างซึ่งมีจำนวนมาก เช่น กลุ่มบริษัทเทคขนาดใหญ่ ยังมีการปลดคนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล (Google) ที่เมื่อเดือนมกราคม ได้เลิกจ้างพนักงานไปอีกหลายร้อยคนในแผนกวิศวกรรมกลาง และสมาชิกในทีมฮาร์ดแวร์ หลังจากปีที่แล้ว (2023) ลดจำนวนพนักงานทั่วโลกร้อยละ 6 หรือประมาณ 12,000 คน

ไมโครซอฟท์ ก็ลดลงอีก 1,900 คน โดยหลังจากเข้าซื้อกิจการของบริษัทวิดีโอเกม แอคติวิชัน บลิซซาร์ด (Activision Blizzard) บริษัทฯ ก็ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานในแผนกเกม

ส่วน แอปเปิล (Apple) จะปลดพนักงานกว่า 600 คน หลังจากปิดโครงการ อีวี ไป

ด้านสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ซิตี้ กรุ๊ป (Citi Group) ประกาศเมื่อเดือนมกราคม จะลดพนักงานจำนวน 20,000 คน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในแผน ยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่

เพย์พัล (Paypal) ก็ประกาศว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงาน ร้อยละ 9 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานประมาณ 2,500 คน

กลุ่มสื่อและบันเทิง พาราเมาต์ โกลบอล (Paramount Global) ได้ประกาศก่อนหน้านี้ จะปรับลดถึง 800 ตำแหน่งงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของพนักงานทั้งหมด และ ทวิตช์ (Twitch) บริการสตรีมมิงวิดีโอ ของ แอมะซอน (Amazon) ก็จะปรับลดพนักงานลง 500 ตำแหน่ง ที่ถือเป็นหนึ่งในความพยายามลดต้นทุนของบริษัทดังกล่าว 

ธุรกิจขนส่งรายใหญ่ของอเมริกา ยูพีเอส (UPS) ก็จะเลิกจ้างราว 12,000 ตำแหน่ง

ส่วน ไนกี้ (Nike) ประกาศแผนการลดต้นทุน มูลค่าสูงสุด 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะรวมถึงการลดจำนวนพนักงานลงในช่วงต้นปี 2024 นี้ แต่ไม่ได้ระบุจำนวนพนักงานที่ถูกปลดออก

ธุรกิจเครื่องสำอาง อย่าง เอสเต ลอเดอร์ (Estée Lauder) ก็ประกาศแผนปรับโครงสร้างจะปลดพนักงานมากถึง 3,100 ตำแหน่ง

กลุ่มรถยนต์ก็มี เริ่มที่ สเตลแลนทิส (Stellantis) เจ้าของแบรนด์ จี๊ป (Jeep) และ ดอดจ์ (Dodge) ประกาศเลิกจ้างพนักงานในทีมวิศวกรรม เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ราว 400 ตำแหน่งเพื่อลดต้นทุน

เทสลา (Tesl) ก็ด้วย ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกลงกว่าร้อยละ 10 โดยระบุว่า เพื่อลดความซ้ำซ้อนในบางหน้าที่งาน

และลูซิด มอเตอร์ส (Lucid Motors) กล่าวว่าจะเลิกจ้างพนักงานประมาณ 400 คน ในแผนการปรับโครงสร้างบริษัทที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ 

ข่าวแนะนำ