TNN ตลาดรถยนต์ไทยถึงทางตัน! ฟื้นช้า-ยอดผลิตทรุด

TNN

รายการ TNN

ตลาดรถยนต์ไทยถึงทางตัน! ฟื้นช้า-ยอดผลิตทรุด

ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้ซบเซามาก ยอดขายช่วง 5 เดือนปรับลดลง จนกระทบยอดผลิต พาไปดูสาเหตุที่ตลาดรถยนต์ในไทยทรุดตัว ว่ามีสาเหตุจากอะไรกันบ้าง

ยอยผลิตรถยนต์ 5 เดือนแรกปีนี้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 36 จากเดือนก่อนหน้านี้  ทางกลุ่มยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ประกาศลดเป้าหมายยอดผลิตจาก 1.90 ล้านคัน เหลือเพียง 1.85 ล้านคัน ส่วนที่ลดคือยอดผลิตที่ขายในประเทศ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ออกบทวิเคราะห์ในเรื่องรถยนต์ โดยระบุว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศกลับฟื้นตัวค่อนข้างช้า มองว่าอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ได้ช่วงเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว จากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนสะสมทั่วประเทศ ที่สูงถึงเกือบ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็น 277 คันต่อประชากรไทย 1,000 คน ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม 50 คัน ฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คันต่อประชากร 1,000 คน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศอื่นที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ

2. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้เกิดมาตรฐานการใหม่ในการตั้งราคารถใหม่ ที่ราคามีแนวโน้มลดลงจากเดิม ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อ ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคนี้น้อยกว่าในอดีต

3. โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ สวนทางกับสัดส่วนที่มีกำลังซื้อรถยนต์อย่างกลุ่มอายุ 25-49 ปี กลับมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เป็นร้อยละ 35  ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 33 ของประชากรทั้งหมดในปี 2573  ตรงนี้จะส่งผลทำให้ยอดขายรถน้อยลง

4. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของรายได้ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในที่สุด

5. หนี้ครัวเรือนสูงกำลังเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 91.3  ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ ร้อยละ 80 ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลง แต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่า รถยนต์ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินต้องรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป


ตลาดรถยนต์ไทยถึงทางตัน! ฟื้นช้า-ยอดผลิตทรุด


ข่าวแนะนำ