TNN "ดร.นิเวศน์" มองหุ้นไทย ท้อแท้-สิ้นหวัง

TNN

รายการ TNN

"ดร.นิเวศน์" มองหุ้นไทย ท้อแท้-สิ้นหวัง

ในช่วงนี้ เกิดคำถามมากมายต่อตลาดหุ้นไทย ว่าทำไม ดัชนี SET Index บ้านเรา ยังคงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เข้าขั้นเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งแล้ว ล่าสุด ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า โพสแสดงความเห็นต่อตลาดหุ้นไทยไว้ในเพจของ "สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)" ไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากรู้สึก “ท้อแท้” และ “สิ้นหวัง” ซึ่งเหตุผลในภาพใหญ่ อาจจะเป็นเรื่องที่ดัชนีตกลงมาจาก 1,416 จุดในช่วงต้นปี จนมาเหลือ 1,306 จุด เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (14 มิ.ย. 67) หรือลดลงมาประมาณร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง หลังจากปีที่แล้วก็ “แย่ที่สุดในโลก” แบบเดียวกัน และที่แย่ลงไปอีกก็คือหุ้นไทยนั้น ตกต่ำลงทั้ง ๆ ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลัก ๆ ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างทั่วหน้า โดยอานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นโดดเด่น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาก


ดร.นิเวศน์ ระบุว่า ถ้ามองจากเหตุผลระยะสั้นแบบเทคนิคก็คือ หุ้นไทยตกเพราะนักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” และเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ สูงถึงเกือบแสนล้านบาทแล้ว ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งก็เป็นการขายสุทธิที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี การขายสุทธิโดยตัวของมันเอง ก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นจะต้องลงเสมอไป อย่างหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ในช่วงนี้ต่างก็ถูกขาย แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลง อย่างตลาดหุ้นเวียดนามที่ถูกต่างชาติขายหนักมาก แต่ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นถึงประมาณร้อยละ 13 นับจากต้นปี หรืออย่างดัชนีฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกง ก็ปรับตัวขึ้นประมาณร้อยละ 6 ทั้ง ๆ ที่มีปัญหาตกลงมาหนักถึงประมาณร้อยละ 10 ในช่วงต้นปี


ดร.นิเวศน์ชี้ว่า ถ้ามองจากสถิติในอดีต ตลาดหุ้นไทยที่ตกลงมาประมาณร้อยละ 7-8 ในเวลาประมาณ 6 เดือนนั้น ก็อาจจะบอกว่าไม่ถึงกับรุนแรงมากนัก และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใคร “ถอดใจ” และเกิดความ “ท้อแท้” หรือ “สิ้นหวัง” เหตุผลสำคัญก็คือ นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยส่วนใหญ่ก็เป็น “นักเทรด” หรือซื้อขายหุ้นระยะสั้น ที่สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้แม้ในยามหุ้นตก


ในส่วนของนักลงทุนระยะยาว “แนว VI” ที่มักจะเน้นการลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการนั้น แม้ในอดีตตลาดหุ้นโดยรวมอาจจะไม่ดีนัก แต่ตลอดเวลาก็มีบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี หรือมีสตอรี่ที่ดี และหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นเหนือดัชนีมาก ซึ่งภาวะเช่นนี้ ทำกำไรให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้เป็นกอบกำ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่เข้าไปร่วม “เก็งกำไร” ก็สามารถทำกำไรได้ “ทุกวัน”


แต่สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนว่าหุ้นที่เคยวิ่งกันคึกคักและราคาปรับตัวขึ้นเพราะบริษัทมีสตอรี่ที่ดี มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างโดดเด่น จนทำให้หุ้นมีมูลค่าหรือ Market Cap. สูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐาน กลับตกลงมาต่อเนื่องแบบ “คอร์เนอร์แตก” ขณะที่บางบริษัท ราคาหุ้นก็ลดลงมาเกินร้อยละ 30 - 40 และไม่รู้จะหยุดตกเมื่อไร


ทั้งหมดจึงกลายเป็น "ความท้อแท้-สิ้นหวัง" ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ซึ่งก็แสดงออกผ่านปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่ลดลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่นักเล่นหุ้นรายวันไปจนถึงรายใหญ่ และเหล่า VI แม้แต่คนที่ถือยาวแบบไม่คิดจะขาย สิ่งที่เกิดขึ้น ดร.นิเวศน์ จึงตั้งคำถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็น “เรื่องชั่วคราว” แค่ไหน


คำตอบของ "ดร.นิเวศน์" คือ ปัญหาของหุ้นไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นปัญหาถาวรที่เกิดจากโครงสร้างที่แก้ไขยาก ซึ่งโครงสร้างเหล่านั้น เดิมทีเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ซึ่งเราไม่ได้ตระหนักและไม่ได้ปรับโครงสร้างตามที่ควรจะเป็น ผลก็คือ เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นเติบโตไปได้ยาก และก็จะเป็นแบบนั้นไปยาวนานและไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้อีกเลย


โดยโครงสร้างแรกที่กำลังส่งผลอย่างรุนแรงและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือเรื่องของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนคนเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า ผลก็คือ จำนวนคนทำงานสร้างผลผลิตหรือ GDP ลดลง และจะลดลงไปเรื่อย ๆ


โครงสร้างที่สองก็คือเรื่องของระบบการปกครองประเทศ ซึ่งความเห็นของดร.นิเวศน์ มองว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้น น่าจะค่อนข้างล้าสมัยและก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้รวดเร็วพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่ไม่สามารถตอบสนองต่อเจตจำนงเสรีของประชาชนที่แท้จริงได้เพียงพอ และรัฐบาลก็ไม่สามารถมีเสถียรภาพเพียงพอ ที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงนั้น และทั้งสองอย่างนั้น เปลี่ยนยากมาก


โครงสร้างที่สามก็คือ โครงสร้างของบริษัทซึ่งก็เป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจ ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยุคเก่าที่กำลังอิ่มตัว บริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้มีการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะสร้าง S-curve หรือการเติบโตใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในขณะที่คู่แข่งอย่างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เคยเป็นรองไทยในอุตสาหกรรมรุ่นเก่า ขณะนี้กลับนำไทยในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ แล้ว


และจากปัญหาทั้งหมด ดร.นิเวศน์ จึงสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า แม้มุมมองทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะไม่ดีเลย แต่ราคาหุ้นของไทยก็ยังไม่ถูกพอ อย่างที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจีน ดังนั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นไทยจึงน่าจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่มีโอกาสเลือก และนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขา "ขายหุ้นไทย" มาตลอด และก็คงจะยังขายต่อไป


ที่มาภาพ : สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)

ข่าวแนะนำ