TNN จับตาลดชนิดแก๊สโซฮอล์ กระทบเอทานอลล้นตลาด

TNN

รายการ TNN

จับตาลดชนิดแก๊สโซฮอล์ กระทบเอทานอลล้นตลาด

กระทรวงพลังงานเตรียมปรับชนิดน้ำมันใหม่ คาดว่าปรับลดชนิดของแก๊สโซฮอล์เหลือแค่ 2 สูตร ผู้ผลิตกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อโรงงานผลิตเอทานอล ส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตรทั้งมันและอ้อย เหมือนกรณีปาล์มน้ำมัน

จากเดิมกลุ่มดีเซล มีการจำหน่ายถึง 3 ชนิด คือ น้ำมันไบโอดีเซล B7, B10 และ B20 แต่ล่าสุดกระทรวงพลังงานกำหนดให้ลดเหลือแค่ 2 ชนิด โดยกรมธุรกิจพลังงานประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B10 แล้ว และให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B7 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล มีทั้ง  E 10 ที่เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่มีส่วนผสมเอทานอลร้อยละ 10, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ที่มีส่วนผสมเอทานอลร้อยละ 20 และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 มีส่วนผสมเอทานอลร้อยละ 85 ส่วน น้ำมันเบนซินออกเทน 95 (ไม่มีส่วนผสมเอทานอล)  ซึ่งกระทรวงพลังงานเตรียมปรับลดเหลือเพียง 2 ชนิดคือ น้ำมันพื้นฐาน และน้ำมันทางเลือก เช่นเดียวกับดีเซล โดยมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียง E 10

กระทรวงพลังงานมองว่า การลดชนิดน้ำมันในไทยลง ทำให้ปั๊มน้ำมันลดหัวจ่ายน้ำมัน สิ่งที่กระทรวงพลังงานวางแนวทางไว้คือ อยากให้ทั้งกลุ่มดีเซลและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ เหลือเพียงเกรดเดียว แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ใช้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นด้วย 


ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เดินเครื่องผลิตแล้วจำนวน 28 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน  ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 6.6 ล้านลิตรต่อวันในปี 2565 

แต่ปริมาณการใช้เหลือแค่ 3 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงไปมากกว่าครึ่ง ถ้าในอนาคตกระทรวงพลังงานปรับลดสเปคน้ำมันเหลือแค่ E10 ทำให้การใช้ลดลงไปอีก


จับตาลดชนิดแก๊สโซฮอล์ กระทบเอทานอลล้นตลาด

 

สำหรับการผลิตเอทานอลของไทยใช้วัตถุดิบกากน้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก 

ข้อมูลในปี 2565 พบว่ามีการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 45 ของปริมาณเอทานอลทั้งหมด 

มันสำปะหลัง สัดส่วนร้อยละ  43 

น้ำอ้อย สัดส่วน ร้อยละ 12 

ข้อมูลจากทางสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง ระบุว่า ในปีนี้อุตสาหกรรมเอทานอลจากมันสำปะหลังมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทกำลังได้รับผลกระทบจากโรงงานเอทานอลชะลอการรับซื้อมันเส้น เนื่องจากเอทานอลที่ผลิตขายไม่ได้ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของกระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุน ให้ E20 เป็นนํ้ามันพื้นฐาน และจะปรับให้เหลือแค่ E10 เท่านั้น ทำให้ความต้องการเอทานอลลดลง โดยอยากให้รัฐบาลส่งเสริมE20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของไทย ไม่เช่นนั้นกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลอย่างแน่นอน 

ถ้าไปดูการจำหน่ายเอทานอลในไทย ยังถูกจำกัดจากนโยบายภาครัฐที่อนุญาตให้จำหน่ายแก่ผู้ค้าน้ำมันตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ทำให้การนำเอทานอลไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นต้องผ่านการอนุมัติจากองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ดังนั้นทางผู้ผลิตและชาวไร่ มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้แก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพื่อส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมสามารถทำตลาดเสรีได้ เช่น นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ผสมสีทาบ้าน,ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งสามารถนำเอทานอลไปใช้แทนได้ แต่ที่ผ่านมาไม่อนุญาตเพราะเกรงจะมีการลักลอบไปผลิตเป็นสุรา 


ทางศูนย์ วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีการวิเคราะห์ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567-2569 โดยระบุว่าตลาดเอทานอลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องรับมือหลายเรื่อง 

“ปัจจัยหนุน”อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโต ประกอบด้วย

การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคท่องเที่ยว หนุนกิจกรรมภาคธุรกิจกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ 

จำนวนยานยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

การเติบโตของภาคการค้าออนไลน์ หนุนความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นตามความต้องการขนส่งสินค้าจากผู้ขายสู่ผู้บริโภค

นโยบายภาครัฐ หากมีการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ภายใต้แผนสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น

การส่งเสริมให้นำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAFs) ยา เครื่องสำอาง และพลาสติกชีวภาพ

“ปัจจัยท้าทาย” ของอุตสาหกรรมเอทานอลที่ต้องเฝ้าระวัง

ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนในทิศทางปรับตัวสูงขึ้น อาจกดดันต้นทุนการผลิตและกำไรของผู้ประกอบการ 

ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ในระยะยาว การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับลดลง

จับตาลดชนิดแก๊สโซฮอล์ กระทบเอทานอลล้นตลาด

 

ด้าน “วิจัยกรุงศรี” ได้ประเมินเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการที่มีห่วงโซ่การผลิตเอทานอลที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจัดจำหน่าย จะได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่า  แต่ปัญหาด้านความไม่เพียงพอของวัตถุดิบและราคาวัตถุดิบที่มีทิศทางปรับสูงขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ ดังนี้

“ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล”  คาดว่าได้รับผลปัญหาภัยแล้งกระทบต่อผลผลิตอ้อยและกากน้ำตาล มีผลให้ต้นทุนวัตถุดิบยังคงทรงตัวที่ระดับสูงต่อเนื่อง โดยโรงงานผลิตเอทานอลที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาลจะมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จึงได้รับแรงกดดันน้อยกว่าผู้ประกอบรายย่อยซึ่งมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และมีต้นทุนสูงกว่า ส่งผลให้รายได้มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย

“ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง” ได้รับผลกระทบเนื่องจากราคาวัตถุดิบมีทิศทางปรับสูงขึ้นจากภัยแล้งและความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศคู่ค้ามีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้วัตถุดิบอาจไม่เพียงพอกับความต้องการผลักดันต้นทุนปรับสูงขึ้น อาจกดดันกำไรของผู้ประกอบการลดลง

  จับตาลดชนิดแก๊สโซฮอล์ กระทบเอทานอลล้นตลาด

 

ข่าวแนะนำ