มหาดไทยสานต่อพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เดินหน้าพัฒนา OTOP ผ้าไทยสู่แฟชั่นโลก
มหาดไทย สนองแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เดินหน้าโค้ชชิ่ง “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม หวังสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ในถ้องถิ่นในทุกภูมิภาค อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมผลักดันภูมิปัญญา “ผ้าไทยและงานหัตถกรรม” ขึ้นแท่น Soft Power ประเทศไทย นำทางสู่ตลาดแฟชั่นระดับสากล
วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น โดยมี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมงานจำนวนมาก
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน รับหน้าที่สำคัญจากกระทรวงมหาดไทย สานต่อพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุม ไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านสีทอผ้า ลวดลาย รูปแบบการตัดเย็บ โดยทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Thai Textiles Trend Book และพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้า ตลอดจนผู้ประกอบการผ้าทั่วประเทศ ด้วยเพราะทรงเล็งเห็นว่า แฟชั่นคือความชอบ เป็นรสนิยมคนที่ไม่คงที่ แต่ก็สามารถวิวัฒนาการได้ และด้วยพระวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน ทำให้เราเห็นความเจริญงอกงามของผืนผ้าไทย ที่ต่อยอดจากการรื้อฟื้นคืนชีวิตผ้าไทย ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะลายพระราชทาน ที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงคือสิ่งที่พระองค์พระราชทานมาเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด และสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีเป้าหมายอยากเห็นประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง อันนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเพราะงานหัตถกรรมเป็นงานอันซิวิไลซ์ เป็น Soft Power ที่สามารถทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะทุกคนที่ใส่ผ้าไทยไม่ได้ใส่เพราะมันเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยที่เราต้องช่วยทำนุบำรุงให้ประชาชนมีความแข็งแรง เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทยไป เรามีความสุขเพราะรู้ว่าเงินจะตกไปถึงคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ที่อิ้วฝ้าย อิ้วไหม ทอผ้า ย้อมสี อย่างครบวงจร
นายสยาม ศิริมงคล เผยต่อว่า สำหรับ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นการสืบสาน ต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ตามแนวทางพระราชดำริ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ซึ่งภายในงาน จะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประกอบไปด้วย นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ทั้งนี้แต่ละท่าน จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ ต่อยอดมรดกภูมิปัญญา ตลอดจน กลยุทธ์ทางการจัดจำหน่าย ได้แก่ 1.อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัยวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3. นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ 4. ดร. ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 6. นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทย นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ในรูปแบบ Workshop ประกอบไปด้วย 1.เทคนิคการจับคู่สีตามเทรนบุ๊ค (Thai Textiles Trend Book) 2.เทคนิคการออกแบบลายพระราชทาน 3.เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เส้นใยและวัสดุจากธรรมชาติ 4.สาธิตการย้อมสีธรรมชาติ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5.กลยุทธ์ทางการตลาด และการจำหน่าย (Marketing & Sale) และ 6. การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นแฟชั่นและร่วมสมัย เตรียมความพร้อม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมที่จะส่งเข้าร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ในระดับภาค และระดับประเทศ ต่อไป นอกจากนี้ความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ที่ได้รับในโครงการ ยังสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า การพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2567 จะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ได้รู้จักการออกแบบลวดลายที่ทันสมัย ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ในทุกโอกาสได้อย่างเหมาะสม อันเป็นการนำภูมิปัญญามาพัฒนาให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมุ่งมั่นและน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อผลิตสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป
ข่าวแนะนำ