จากเส้นทางธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป สู่ “มั่งคั่งแอนนิมอล” เกษตรกรอัจฉริยะ ในระบบคอนแทรคฟาร์ม
จากเส้นทางธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป สู่ “มั่งคั่งแอนนิมอล” เกษตรกรอัจฉริยะ ในระบบคอนแทรคฟาร์ม
ความมั่นคงในอาชีพอาจจะวัดจากรายได้ต่อปี ยอดขาย หรือกำไรสุทธิ แต่สำหรับ “ภชภณ วนพงศ์ทิพากร” มองต่างไปถึงความต่อเนื่องของอาชีพแบบไร้ความเสี่ยง แต่เป็นความมั่นคงที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเขาและคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัว
ภชภณ เล่าว่า เดิมทำธุรกิจครอบครัวตัดเย็บเสื้อผ้าส่งประตูน้ำ แต่ตนเองมีมุมมองกับธุรกิจเสื้อผ้า คือการรอรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ที่เสี่ยงกับความไม่แน่นอน และมองว่าวัตถุดิบหลายอย่างที่ใช้ในการผลิต ไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นในขั้นตอนผลิตมีเศษผ้าเหลือใช้กลายเป็นต้นทุนแฝง ขณะที่คู่แข่งของไทยอย่างฮ่องกงและจีน มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เขาจึงมองหาช่องทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ ทั้งการมีการสั่งซื้อที่แน่นอนและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
หนึ่งในธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์นั้นได้มากที่สุด คือ การเลี้ยงไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ “คอนแทรคฟาร์ม” โดยภชภณเริ่มต้นเป็นเกษตรกร ภายใต้ชื่อ บริษัท มั่งคั่งแอนนิมอล จำกัด ทำประกันราคากับบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่ง เมื่อปี 2546 หลังเห็นตัวอย่างความสำเร็จของญาติที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนเริ่มต้นธุรกิจเขาศึกษาสัญญาอย่างดี พบว่าไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด ปัญหาโรคน้อย ต้นทุนต่ำสุด และต้องทำให้ตนเองเป็นผู้รับจ้างเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อผลตอบแทนที่ดีที่สุด
เมื่อเริ่มแรกเขาเรียนรู้การเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง จากการฝึกงานในฟาร์ม เรียกว่ากิน-นอนอยู่ในฟาร์ม ควบคู่กับการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้มาช่วยงานในฟาร์มด้วยตัวเอง และเดินทางไปศึกษาความก้าวหน้าของระบบฟาร์ม ในงานแสดงเทคโนโลยีทางปศุสัตว์ระดับนานาชาติ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาประยุกต์ใช้
ปัจจุบัน ภชภณยกเลิกสัญญากับบริษัทแรกไปหลายปีแล้ว และทำสัญญาคอนแทรคฟาร์มกับบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่ 3 บริษัท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2562 เลี้ยงไก่เนื้อ 270,000 ตัว จำนวน 10 โรงเรือน ในจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี
สำหรับการเป็นคู่สัญญากับซีพีเอฟ เขาบอกว่าต้องทำงานแข่งกับตัวเอง เลี้ยงให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เช่นอัตราการตายไม่เกิน 2% และกำหนดน้ำหนักมาตรฐานในวันจับสัตว์ ที่สะท้อนความสามารถในการเลี้ยง เพื่อทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนสูงสุด และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค
ที่สำคัญ ซีพีเอฟถือเป็นคู่ค้าที่ดี ผู้บริหารและพนักงานช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะช่วงการระบาดของ โควิด-19 ได้รับเงินช่วยเหลือจากผลกระทบด้านการจับไก่เข้าโรงงานชำเเหละไม่ได้ตามเเผนที่กำหนดไว้ ทำให้มีผลต่อประสิทธิภาพต้นทุน ค่าใช้จ่ายฟาร์มเพิ่มขึ้น ซึ่งทางบริษัทก็ได้ให้ความช่วยเหลือ เพื่อลดภาระต้นทุน ทำให้ฟาร์มมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่าย
ภชภณ กล่าวย้ำว่า การเลี้ยงไก่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นความท้าทาย และยังกระตุ้นตัวเองให้พัฒนาตลอดเวลา ที่สำคัญคือต้องรักษามาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการผลักดันให้ฟาร์มมั่งคั่งแอนนิมอล เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farm) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับเกษตรพันธสัญญา ผมไม่คิดเรื่อง “เอาเปรียบ” กับ “เสียเปรียบ” แต่ต้องมีความเข้าใจในบทบาทของแต่ละฝ่าย เราต้องแข่งกับตัวเอง แข่งกับต้นทุน รู้จังหวะในการทำธุรกิจ มีความสามารถในการบริหารจัดการ ถ้าสองฝ่ายพึงพอใจก็เป็นคู่สัญญาที่ win-win ทั้งคู่” ภชภณ กล่าว
จากความสำเร็จของระบบคอนแทรคฟาร์ม ทำให้ฟาร์มมั่งคั่งแอนนิมอล มีแผนขยายฟาร์มเพิ่มเติมในปี 2568 เพราะเห็นว่าธุรกิจนี้ยังเติบโตได้ ตราบใดที่คนยังต้องรับประทานอาหาร ส่วนหัวใจของความสำเร็จคือ การบริหารธุรกิจให้เร็ว และยังต้องสนุกกับการทำงาน ต้องเป็นแบบอย่างให้พนักงานและลูกชายได้เห็นอาชีพที่มีความก้าวหน้าและเติบโตตามเป้าหมาย
ทุกวันนี้ กิจวัตรประจำวันของ ภชภณ จึงไม่ใช่การตรากตรำทำงาน แต่คือการมีความสุขกับครอบครัว มีเวลาแวะเวียนไปตรวจเยี่ยมฟาร์มและพูดคุยกับพนักงาน และมีเวลามองหาธุรกิจอื่นๆที่อยากทำ ทั้งหมดนี้คือคำตอบของโจทย์ที่เขาตั้งไว้แต่แรกกับคอนแทรคฟาร์ม ที่สามารถสร้างอาชีพมั่นคงและความมั่งคั่งให้เขาได้อย่างแท้จริง