นักวิชาการ ย้ำ! ฝีหนองที่เนื้อหมูไม่ใช่โรค-ไม่ติดต่อสู่คน
นักวิชาการ ย้ำ! ฝีหนองที่เนื้อหมูไม่ใช่โรค-ไม่ติดต่อสู่คน แนะวิธีบริโภคอย่างปลอดภัย
นักวิชาการ ม.เกษตรฯ ชี้ฝีหนองในเนื้อหมูไม่ใช่ภาวะโรค แนะผู้บริโภคหากพบเนื้อหมูที่มีฝีหนองปนเปื้อน ให้ตัดเนื้อส่วนนั้นทิ้ง และต้องปรุงสุกก่อนรับประทาน ย้ำควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อความปลอดภัย
อาจารย์พิชัย จิรวัฒนาพงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง พบฝีหนองในเนื้อหมูสดสไลด์ ในร้านชาบูดังแห่งหนึ่ง กรณีดังกล่าวนั้น “ฝีหนอง” ไม่ได้เกิดจากการที่หมูเป็นโรค แต่เกิดจากการจัดการเรื่องความสะอาดในการใช้เข็มฉีดวัคซีนหรือยาในหมู หากขั้นตอนไม่สะอาด จะมีเชื้อโรคติดเข้าไปทำให้เกิดฝีหนองตรงตำแหน่งฉีด สำหรับโรงชำแหละที่มีกระบวนการผลิตเนื้อหมูที่ได้มาตรฐานโอกาสที่จะมีฝีหนองหลุดออกมาจำหน่ายนั้นน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะมีการตรวจสอบเนื้อสัตว์ ทั้งกระบวนการตัดแต่งและก่อนจำหน่าย
"ฝีหนอง คือเชื้อโรคอย่างหนึ่ง ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ส่วนใหญ่มักจะพบในเนื้อหมูบริเวณแถวคอหมู ซึ่งเกิดจากความสกปรกในการฉีดยาหรือวัคซีน แล้วทำให้เชื้อโรคที่มีอยู่ตามผิวหนังของหมูแทรกเข้าไปตามรอยเข็ม แล้วก่อเป็นฝีหนองที่แถวคอหรือบริเวณที่ฉีด ไม่ได้เกิดจากตัวยาหรือตัววัคซีนแต่อย่างใด หากพบต้องเฉือนหรือตัดส่วนที่เกิดฝีหนองนั้นทิ้งไปห้ามรับประทาน ส่วนที่ไม่เกิดหนองยังสามารถรับประทานได้ เพราะฝีหนองปกติอยู่ในรูปแบบของแคปซูลหากไม่ได้แพร่กระจายออกไปจะไม่เกิดปัญหา แต่ในแง่ของความสบายใจของผู้บริโภค ที่มองว่าเนื้อชิ้นนั้น เกิดฝีหนองแล้วไม่น่ารับประทานจะทิ้งไปทั้งชิ้นเลยก็ได้" อาจารย์พิชัย กล่าว
สำหรับเรื่องการฉีดยาหรือฉีดวัคซีน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องรักษาความสะอาด มีการเช็ดทำความสะอาดบริเวณตำแหน่งที่จะฉีดก่อนเสมอ อย่างน้อยให้ใช้สำลีชุบแอลกอฮอลล์หรือล้างตัวหมูเพื่อลดความสกปรก เพราะความสกปรกนอกจากจะทำให้เกิดเรื่องฝีหนองแล้ว ยาหรือวัคซีนที่ฉีดอาจไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากเชื้อโรคที่ฟอร์มตัวเป็นก้อนทำให้ยาหรือวัคซีนออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ แต่ในปัจจุบันวงการเลี้ยงหมู มีการพัฒนาใช้กระบอกฉีดยาหรือวัคซีนที่ไม่มีเข็ม (Needle free vaccination) มากขึ้น หลายฟาร์มเปลี่ยนเป็นวิธีนี้ เพื่อลดอุบัติการณ์ในการเกิดปัญหาดังกล่าว
“ผู้บริโภคอย่าหวั่นวิตกหากพบเนื้อหมูที่มีฝีหนองปนเปื้อน สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นทิ้ง ส่วนของเนื้อที่ไม่มีก้อนฝีหนองยังคงรับประทานได้ โดยต้องปรุงสุกที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียสขึ้นไปเท่านั้น สำหรับผู้ประกอบการ ร้านชาบู-หมูกระทะ ต้องเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรวจสอบสภาพเนื้อหมู สด สะอาด ราคาไม่ถูกเกินไป และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ โดยสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เครื่องหมายการันตี มาตรฐานการผลิตตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การเลี้ยง การเชือด-ชำแหละ การแปรรูป จนถึงสถานที่จำหน่ายเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” อาจารย์พิชัย กล่าวทิ้งท้าย
คลิกลิ้งค์ >> https://youtu.be/axgft8pQz10