TNN มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิง ป้องกันได้ ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง

TNN

กิจกรรม&ข่าวประชาสัมพันธ์

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิง ป้องกันได้ ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิง ป้องกันได้  ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย และผู้หญิงทั่วโลก แต่รู้หรือไม่? ผู้หญิงทุกคนสามารถป้องกันได้ ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง และหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ “เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นพบให้เร็วที่สุด”

มะเร็งเต้านม ภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้หญิง ป้องกันได้  ด้วยการตรวจเต้านมตนเอง


มะเร็งเต้านมคืออะไร


มะเร็งเต้านม ก็คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม ซึ่งอาจจะเกิดจากเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนม (Ductal Cancer) หรือเซลล์ที่อยู่ในต่อมน้ำนม (Lobular Cancer) มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ จากสถิติของสถานวิทยามะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการที่มีเครื่องแมมโมแกรมที่ช่วยให้ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้มากขึ้น และจากสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคล้ายคลึงกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น  เซลล์มะเร็งเต้านม มักจะลุกลามเนื้อเยื่อเต้านมปกติที่อยู่รอบๆ กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ผนังทรวงอก หรือไหปลาร้า และกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ สมอง ปอด เป็นต้น  มะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกิดขึ้นเองจากอายุที่เพิ่มขึ้น มีเพียง 5-10% ที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น ความเครียด ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร เป็นต้น


สัญญาณเตือน และอาการของมะเร็งเต้านม


ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร ตัวก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยังไม่สามารถคลำได้ด้วยมือหรือทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ กับเต้านมจนสังเกตเห็นความผิดปกติได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักตรวจเจอความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Screening Mammography)

ต่อมาผู้ป่วยมักจะคลำได้ก้อนที่เต้านม โดยเฉลี่ยแล้วก้อนที่คลำได้ในคนที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ มักมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 2 ซม. และขนาด 3-5 ซม. ในคนที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเอง ก้อนที่เป็นมะเร็งนั้น ส่วนใหญ่มักจะแข็ง ขอบเขตไม่ชัดเจน และไม่เจ็บ แต่ก็จะมีผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีลักษณะนุ่ม ขอบเขตชัด และเจ็บได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เมื่อท่านสงสัยหรือตรวจพบก้อนที่บริเวณเต้านม


อาการอื่นๆ ของโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่

  • เต้านมบวมหรือใหญ่ขึ้นผิดปกติ
  • มีรอยบุ๋มที่ผิวหนังบริเวณเต้านม
  • เจ็บเต้านมหรือหัวนม
  • หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้งเข้าไปด้านใน
  • ผิวหนังแดง หนา เป็นขุย หรือเป็นแผลบริเวณหัวนมหรือเต้านม
  • มีน้ำนมหรือเลือดไหลออกจากหัวนม


เนื่องด้วยมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557 พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากมะเร็งเต้านมในประเทศไทยนั้นสูงถึง 10.5 รายต่อวัน  ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็คือ ระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ โดยอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 0-1 จะสูงถึง 99% และลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเหลือประมาณ 27% ในผู้ป่วยระยะที่ 4 (ระยะแพร่กระจาย)  ดังนั้น การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น และเข้ากระบวนการรักษาได้เร็ว จึงมีความสำคัญมากในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย 


การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทำได้อย่างไรบ้าง

มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าในการรักษา โดยยิ่งตรวจเจอไว ก็จะยิ่งรักษาได้เร็ว และมีโอกาสหายขาดได้ โดยมีวิธีการตรวจคัดกรอง ดังนี้

1.การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self-Examination: BSE) 

2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (Clinical Breast Examination: CBE) 

3. การตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography: MM)


7 ตุลาคม วันมะเร็งเต้านมโลก

เนื่องในวันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นวันมะเร็งเต้านมโลก มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขอเชิญชวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปใส่ใจการตรวจเต้านมตนเอง และสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการร่วมกิจกรรมเปลี่ยนกรอบรูป “เต้า ต้อง ตรวจ Pink Filter” ผ่านเว็บไซต์ https://www.thanyarak.or.th/saveyourbreast 


เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นพบให้เร็วที่สุด



ข้อมูลโดย : พญ.ประภาลักษณ์ ไชยเจริญ รังสีแพทย์ ประจำศูนย์ถันยรักษ์ 

อ้างอิง : www.breastcancer.org

ข่าวแนะนำ