ย้อนรอย “หมูเถื่อน” ย่องเข้าไทย หวังฟันกำไรบนความทุกข์ยากของคนไทย
ย้อนรอย “หมูเถื่อน” ย่องเข้าไทย หวังฟันกำไรบนความทุกข์ยากของคนไทย
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหมูของประเทศไทยเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจสุกร (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) โรคระบบทางเดินอาหาร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) ที่ทำให้หมูเกิดอาการท้องเสียในสุกรทุกช่วงอายุ เพียงแค่ 2 โรคนี้ เกษตรกรก็ขยาดไปตามๆกัน เพราะมีแต่เสียหายและขาดทุนสถานเดียว และที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ โรคอหิวาต์แอฟริกัน หรือ ASF (African Swine Fever) เพราะยังไม่มีวัคซีนรักษา จนต้องประกาศว่าพบมีการติดโรคดังกล่าวในไทยเมื่อเดือนมกราคม 2565
วิกฤต 3 โรคระบาด ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง แม่พันธุ์สุกรของไทยทั่วประเทศลดลงต่อเนื่องและสูงถึง 50% จาก 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 550,000 ตัว ส่งผลให้ปริมาณลูกหมูที่เคยผลิตได้ 21-22 ล้านตัวต่อปี ซึ่งรองรับการบริโภคในประเทศได้อย่างเพียงพอ เหลือ 12-13 ล้านตัวต่อปีเมื่ออุปทานหายไปกว่าครึ่ง กลไกตลาดทำงานโดยอัตโนมัติส่งผลให้ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งสูงขึ้นเกือบแตะ 300 บาทต่อกิโลกรัม เป็นแรงจูงใจให้เหล่ามิจฉาชีพสบช่องฉวยโอกาสทำกำไรจากราคาที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื้อสุกรและเครื่องในเป็นสินค้าต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงต้องได้การตรวจรับรองโรคและการเคลื่อนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องผ่านพิธีนำเข้า ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่ต้องประสานการทำงานและรับผิดชอบร่วมกัน
“หมูเถื่อน” หรือ “หมูกล่อง” จึงเป็นเป้าหมายของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมายจากประเทศต่างๆ เช่น บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนทั้งขา หัว เครื่องใน ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า หมูเถื่อนเหล่านี้มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ ASF แทบทั้งหมด เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในเนื้อหมูที่ขายตามตลาดในกรุงเทพฯ อีกทั้งหมูเถื่อนยังเต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสารต้องห้ามตาม พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ของไทย ของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2546 และยังเจอปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงไม่ต่างกับไทย แต่หมูเถื่อนเสนอราคาขายปลีกอยู่ที่ 135-150 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนผิดกฎหมายเหล่านี้จึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง
มิจฉาชีพนำเข้าหมูเถื่อนในหลายรูปแบบเช่น สำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น เช่น อาหารทะเล อาหารสัตว์ เล็ดลอดสายตากรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เข้ามาหลายช่องทางทั้งทางน้ำและทางบก และนำสินค้ามาพักไว้ตามห้องเย็นตามจังหวัดต่างๆ อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เป็นต้น โดยประกาศขายผ่านสื่อโซเชียลอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ที่สำคัญไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายกลาง และผลกระทบต่อการเลี้ยงหมูทั้งระบบ จากการดัมพ์ราคาของหมูเถื่อน บั่นทอนความเชื่อมั่นด้านเสถียรภาพราคาในการนำหมูรอบใหม่เข้าเลี้ยง ตลอดจนสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
ผู้เลี้ยงหมูยังเข็ดขยาดกับการระบาดของ ASF และโรคระบาดอื่นๆ ทำให้การนำหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่ยังมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคเนื้อหมูในท้องตลาดราคาจึงยังทรงตัวสูง ยิ่งทำให้มิจฉาชีพหึกเหิมรุดทำกำไรระยะสั้นเพิ่มปริมาณ ลักลอบนำเข้าหมู และนำไปซุกซ่อนไว้ในห้องเย็น ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยันว่าหมูในแต่ละภูมิภาคมีปริมาณเพิ่มขึ้นผิดปกติ
จนถึงขณะนี้ ผู้เลี้ยงหมูพยายามประคับประคองราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม มา 18 สัปดาห์แล้ว เพื่อสนับสนุนการบริโภคของคนไทย สวนทางกับภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น 30% และต้นทุนการทำระบบไบโอซีเคียวตี้เพื่อป้องกันโรค เนื่องมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูขุนในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ อยู่ที่ 98-101 บาทต่อกิโลกรัม
หมูเถื่อน จึงจัดเป็น “มหันตภัย” ของประเทศ ทำลายทั้งสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค อาจ “ตายผ่อนส่ง” จากสารเร่งเนื้อแดง ทำลายอาชีพผู้เลี้ยงหมูและทำลายเศรษฐกิจชาติ เนื่องจากการเลี้ยงหมูสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
วันนี้แม้ว่าภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร จะเร่งระดมกำลังทุกภาคส่วน ลงพื้นที่ตรวจ จับ ดำเนินคดี จนถึงทำลายหมูนอกลักลอบนำเข้า มาอย่างต่อเนื่อง แต่การกวดขันตรวจสอบจับกุม “ขบวนการทำลายชาติ” ต้องเดินหน้าปูพรมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมา “ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ” นั่นเท่ากับที่ตรวจพบนี้อาจเป็นแค่ส่วนเดียวของที่ซุกซ่อนไว้ การปกป้องคนไทยทั้งประเทศให้มีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในอาชีพ จึงอยู่ในกำมือของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องแสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์เสียที ก่อนที่ผู้เลี้ยงหมูและห่วงโซ่ที่เกี่ยวเนื่องจะล่มสลายไป