เกษตรกรเลี้ยงไก่ วอนผู้บริโภคเข้าใจ ราคาไก่สมเหตุผลตามกลไกตลาด
สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ วอนผู้บริโภคเข้าใจเกษตรกร ราคาเนื้อไก่ปรับตามต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต และต้นทุนพลังงาน ราคาหน้าฟาร์มเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าการผลิตต่อเนื่อง สร้างหลักประกันอาหารมั่นคง ให้คนไทยมีไก่บริโภคเพียงพอไม่ขาดแคลนในราคาสมเหตุผล
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไม่ต่างกับผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเผชิญภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมัน และปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรค จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาหน้าฟาร์มขึ้นบ้างให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ หากเนื้อไก่ถูกควบคุมราคามากเกินไปเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ต้องปิดกิจการแน่นอน การปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยภาครัฐเป็นกำกับดูแลเป็นการสร้างสมดุลผู้บริโภคและเกษตรกรให้อยู่รอดในภาวะวิกฤตไปด้วยกัน
“ช่วง 2 ปีมานี้ เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อประสบปัญหาการบริโภคลดลงตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 สวนทางกับต้นทุนผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง มาปีนี้เจอวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมอีก ต้นทุนว้ตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 30-40% ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและการปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ที่สำคัญการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5 หากส่งผลให้มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง เกษตรกรอาจต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่าที่แบกภาระในปัจจุบัน” นางฉวีวรรณ กล่าว
สำหรับไก่เนื้อหน้าฟาร์ม จำเป็นต้องปรับราคาจากเดือนมกราคม 2565 ที่ราคา 39 บาท เป็น 41 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และยังคงยืนราคานี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในปัจจุบันประมาณ 42-43 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปีนี้เกินกว่า 13 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ การปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจากลิตรละ 30 บาท เป็นลิตรละ 35 บาท ยังส่งผลให้ค่าขนส่งสูงขึ้น 20% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรต้องแบกรับไว้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตก็ต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้นไม่ต่างกัน
นางฉวีวรรณ กล่าวย้ำว่า คนไทยไม่ต้องกังวลว่าเนื้อไก่จะขาดแคลน โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตเนื้อไก่ไทยปี 2565 อยู่ที่ 2.93 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศประมาณ 1.99 ล้านตัน และจะมีการส่งออกผลผลิตส่วนเกินประมาณ 900,000 ตัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ที่สำคัญไก่ที่นำไปส่งออกไม่กระทบต่อการบริโภคของคนไทยแน่นอน
ปัจจุบัน คนไทยบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 21 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบริโภคลดลงมากเนื่องจากการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนทั่วประเทศ ในปีนี้การบริโภคลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงทำให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายและซื้ออาหารแค่เพียงพอในแต่ละมื้อ ไม่ซื้อจำนวนมากเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เนื้อไก่ยังเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่ราคาสมเหตุผล เป็นทางเลือกให้กับประชาชนซื้อหาทดแทนเนื้อสัตว์ชนิดอื่น
นางฉวีวรรณ กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการปรับราคาเนื้อไก่เป็นตามกลไกตลาด ที่สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค การควบคุมราคาสินค้ามากเกินไปในภาวะวิกฤตอาจจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนสูงจนไม่สามารถแบกภาระขาดทุนต่อไปได้จนทำให้เลิกกิจการ จะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมลดลงและอาจจะหายไปจากตลาดหรือราคาผลผลิตน้อยและมีราคาสูงกว่าปกติ จะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศมากกว่าการปล่อยให้ราคาปรับขึ้นได้อย่างสมเหตุผลตามต้นทุนที่แท้จริง