ยูนิเซฟกับภารกิจเพื่อเด็กในประเทศไทย
ยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ มุ่งมั่นทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กทั่วโลก ช่วยให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา
กรุงเทพฯ – 6 มกราคม 2565 – โอกาสที่ไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ เป็นหนึ่งในรากฐานของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำนี้ คือ ‘เด็ก’ และ ‘เยาวชน’ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ฟันเฟืองปัญหาเหล่านี้ หมุนวนซ้ำ ๆ ตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และช่องว่างระหว่างชนชั้นต่าง ๆ อย่างไม่รู้จบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2489 เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่นั้นเป็นเวลา 75 ปีแล้ว ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็กทั่วโลก ช่วยให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ปัจจุบัน ยูนิเซฟดำเนินงานอยู่ใน 190 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก
ยูนิเซฟมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ผลักดันกฎหมายและนโยบายเพื่อเด็กในประเทศไทย
ยูนิเซฟก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2491 และได้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา น้ำสะอาด และสุขอนามัย อีกทั้งยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีชีวิตอยู่รอด ขจัดโรคร้ายในเด็ก และสนับสนุนการริเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยลดภาระโรคลงได้อย่างมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างมากและกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง งานของยูนิเซฟได้เปลี่ยนไปโดยเน้นไปที่การจัดทำข้อมูลด้านเด็ก การเสริมสร้างระบบโครงสร้างด้านเด็กให้เข้มแข็ง ตลอดจนการทำแคมเปญรณรงค์สื่อสารในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอ หลายอย่างปรากฏผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบของการพัฒนากฎหมายและนโยบายรัฐที่เอื้อต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก โดยกฎหมายและนโยบายสำคัญที่ยูนิเซฟและพันธมิตรมีส่วนร่วมผลักดันจนสำเร็จ ได้แก่
- ปี 2542: ประเทศไทยออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อรับรองสิทธิเด็กในการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 12 ปี และในมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 ได้ขยายให้ครอบคลุมเด็กข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้สามารถเข้าเรียนได้ โดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับเด็กทุกคน ต่อมาในปี 2552 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี
- ปี 2546: พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ช่วยให้เด็กได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่มขึ้นและเพื่อสร้างหลักประกันว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ตลอดจนมีพัฒนาการที่เหมาะสม และยังช่วยสร้างเสริมความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว ไปพร้อม ๆ กับการเป็นเกราะคุ้มครองเด็กจากการล่วงละเมิด ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
- ปี 2554: ไอโอดีนช่วยพัฒนาสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเป็นจำเป็นต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่ในปี 2546 นั้นกลับพบว่าครัวเรือนในประเทศไทยมีการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น ยูนิเซฟและพันธมิตรจึงเดินหน้าผลักดันกฎหมายเรื่องเกลือเสริมไอโอดีนจนสำเร็จในปี 2554 ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก พบว่า ในปี 2562 ครัวเรือนในประเทศไทยมีการบริโภคเกลือที่มีไอโอดีนเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 86 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางสุขภาพที่สำคัญสำหรับแม่และเด็ก
- ปี 2555: ส่งเสริมการขับเคลื่่อนนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งแรกที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยปี 2555-2559 เพื่อระดมทรัพยากรมาสู่การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย และเป็นรากฐานการขับเคลื่อนพระราชบัญัญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
- ปี 2558: ยูนิเซฟร่วมมือกับรัฐบาลจนนำไปสู่การอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวยากจนที่มีเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ปี จากนั้น ในปี 2559 ได้ขยายให้ครอบคลุมเด็กถึงอายุ 3 ปี และในปี 2562 ขยายต่อให้ครอบคลุมเด็กถึงอายุ 6 ปี โดยได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อคนต่อเดือน คาดว่าภายในปี 2567 จะมีเด็กกว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศได้รับสิทธินี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมพื้นฐานให้แก่เด็ก ๆ และครอบครัวที่เปราะบาง รวมถึงนำไปสู่การเป็นระบบถ้วนหน้าซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด
- ปี 2560: ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนต่ำที่สุดในโลก สาเหตุหนึ่งก็เพราะแม่จำนวนมากเลือกใช้นมผงซึ่งมีการทำการตลาดอย่างดุเดือด สถานการณ์นี้ส่งผลให้แม่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และยูนิเซฟร่วมกันผลักดันและปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ในปี 2560 ประเทศไทยผ่านพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผงและช่วยให้แม่และผู้ปกครองเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลในเรื่องนี้
- ปี 2562: เพราะหกปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา ด้วยการสนับสนุนและผลักดันจากยูนิเซฟ เด็กปฐมวัยกว่า 4 ล้านคนได้รับประโยชน์จากการออกพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่กำหนดให้รัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนงบประมาณ และแผนการดำเนินงานแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อให้เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
- เป้าหมายหลัก “เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน”
- คิม คยองซัน ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูนิเซฟมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 7 ทศวรรษ และเราจะไม่หยุดนิ่ง ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติการณ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์การทำงานของยูนิเซฟ จำนวนเด็กทั่วโลกที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวโหย การออกจากโรงเรียน การถูกทำร้าย ความยากจน หรือถูกใช้แรงงานกำลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขของเด็กที่เข้าถึงการรักษาพยาบาล วัคซีน อาหาร และบริการที่จำเป็นกลับลดลง ในประเทศไทยเอง แม้ความเป็นอยู่ของเด็กจะพัฒนาไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่โควิดกำลังส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อกลุ่มเปราะบาง การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อเด็กหลายด้าน ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพ โภชนาการและการคุ้มครองเด็ก เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ในขณะที่เยาวชนต่างก็เครียดและกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ดังนั้น เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาและสร้างอนาคตใหม่ให้กับเด็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการเดิม ๆ ได้อีก แต่เราต้องทำสิ่งใหม่ ๆ โดยพร้อมจะยืดหยุ่นและปรับตัว ตลอดจนร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”
- Friends of UNICEF กำลังสำคัญในการณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
- แน่นอนว่า ยูนิเซฟไม่สามารถทำงานเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หนึ่งในกำลังสำคัญที่มาช่วยยูนิเซฟเข้าถึงผู้คนและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ด้านเด็ก ก็คือ “Friends of UNICEF” นั่นคือ กลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ยูนิเซฟแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อมาร่วมเป็นกระบอกเสียงและปฏิบัติภารกิจในการส่งเสริมสิทธิเด็ก ซึ่งเหล่าผู้มีชื่อเสียงที่มาร่วมงานกับยูนิเซฟต่างมาด้วยใจและไม่เคยได้รับค่าจ้างหรือผลตอบแทนใด ๆ และล่าสุดที่ได้รับการแต่งตั้งไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ก็คือ คุณเป๊ก – ผลิตโชค อายนบุตร, คุณมิน – พีชญา วัฒนามนตรี, และ คุณแบมแบม – กันต์พิมุกต์ ภูวกุล
- คิม คยองซัน ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึง Friends of UNICEF ว่า “ยูนิเซฟต้องการพันธมิตรอย่างคุณเป๊ก คุณมินและคุณแบมแบมที่มีความตั้งใจเหมือนกับเรา เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพัง เราหวังว่า Friends of UNICEF จะช่วยให้รณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญของการลงทุนในเด็กมากขึ้น และเรามั่นใจว่าความตั้งใจจริงและความสามารถของ Friends of UNICEF ทุกท่านจะช่วยยูนิเซฟสร้างความรับรู้ด้านเด็กและเข้าถึงหัวใจของคนทั่วประเทศได้”